ประวัติ ของ โดโรธี_ฮอดจ์กิน

โดโรธี แมรี โครว์ฟุตเกิดที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ในปี ค.ศ. 1910 เป็นบุตรสาวของจอห์น วินเทอร์ โครว์ฟุตและเกรซ แมรี โครว์ฟุต (นามสกุลเดิม ฮูด) บิดามารดาของฮอดจ์กินเป็นนักโบราณคดีที่ทำงานในอียิปต์ ในปี ค.ศ. 1921 ฮอดจ์กินเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมเซอร์จอห์น ลีแมนในเมืองเบคเคิลส์ ส่วนบิดามารดาของเธอย้ายไปทำงานที่เมืองคาร์ทูม ฮอดจ์กินสนใจด้านเคมีตั้งแต่เด็กและได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว เมื่ออายุได้ 18 ปี เธอเรียนต่อด้านเคมีที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (วิทยาลัยซอเมอร์วิลล์)[4] ต่อมาในปี ค.ศ. 1932 ฮอดจ์กินเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เป็นสตรีคนที่สามที่ได้รับเกียรตินี้[5]

ฮอดจ์กินเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และศึกษาคุณสมบัติของรังสีเอกซ์เพื่อใช้อธิบายโครงสร้างของโปรตีน เธอและอาจารย์ที่ปรึกษา จอห์น เดสมอนด์ เบอร์นอล เริ่มใช้วิธีนี้ในการศึกษาโครงสร้างของเปปซิน[6] ในปี ค.ศ. 1933 ฮอดจ์กินได้รับตำแหน่งนักวิจัยที่วิทยาลัยซอเมอร์วิลล์และย้ายกลับไปออกซฟอร์ดในปีต่อมา เธอทำงานเป็นนักวิจัยและอาจารย์สอนวิชาเคมีที่วิทยาลัยจนถึงปี ค.ศ. 1977 มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงเช่น มาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร[7] ต่อมาในปี ค.ศ. 1960 เธอดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วิจัยวูล์ฟสันของราชสมาคมแห่งลอนดอน ฮอดจ์กินดำรงตำแหน่งนี้ถึงปี ค.ศ. 1970[8]

ฮอดจ์กินเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ค้นพบโครงสร้างชีวโมเลกุลสามมิติและพัฒนาเทคนิกผลิกศาสตร์รังสีเอกซ์[9] โดยในปี ค.ศ. 1945 เธอกับซี. เอช. คาร์ลิเซิลตีพิมพ์ผลงานโครงสร้างของสารสเตียรอยด์ คอเลสเตอริลไอโอไดด์ ในปีเดียวกัน ฮอดจ์กินอธิบายโครงสร้างของเพนิซิลลิน แต่ผลงานนี้ได้รับการตีพิมพ์ในอีก 4 ปีต่อมา[10] ในปี ค.ศ. 1948 เธอศึกษาวิตามินบี12 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีใครสามารถอธิบายโครงสร้างได้ ฮอดจ์กินประสบความสำเร็จในการอธิบายโครงสร้างของวิตามินบี12 โดยใช้รังสีเอกซ์ เธอตีพิมพ์ผลงานในปี ค.ศ. 1955[11] ผลงานนี้ทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ค.ศ. 1964[12] เป็นสตรีคนที่สามที่ได้รับรางวัลนี้[8] ในปี ค.ศ. 1969 ห้าปีหลังจากได้รับรางวัลโนเบล ฮอดจ์กินพัฒนาเทคนิกรังสีเอกซ์จนสามารถใช้อธิบายโครงสร้างของอินซูลินได้สำเร็จ ผลงานชิ้นนี้เป็นงานที่เธอเริ่มไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934[13]

ด้านชีวิตส่วนตัว ฮอดจ์กินเคยมีความสัมพันธ์กับจอห์น เดสมอนด์ เบอร์นอล อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอ[14] ต่อมาในปี ค.ศ. 1937 เธอแต่งงานกับทอมัส ไลโอเนล ฮอดจ์กิน นักประวัติศาสตร์แอฟริกาและอาจารย์ที่ออกซฟอร์ด ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 3 คนชื่อ ลุค, เอลิซาเบธและโทบี ฮอดจ์กินเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้านในวอริกเชอร์ ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1994[15]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โดโรธี_ฮอดจ์กิน http://news.biharprabha.com/2014/04/the-biography-... http://www.encyclopedia.com/topic/Dorothy_Mary_Cro... http://www.nytimes.com/1994/08/01/obituaries/dorot... http://www.sdsc.edu/ScienceWomen/hodgkin.html //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/13253565 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/4932997 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/7757003 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2142778 //doi.org/10.1002%2Fpro.5560031233 //doi.org/10.1038%2F176325a0