วิวัฒนาการของวงโปงลาง ของ โปงลาง

แต่เดิมเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ยังไม่มีการผสมวงกันแต่อย่างใดใช้เล่นเป็นเครื่องเดี่ยวตามความถนัดของนักดนตรีที่มีอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ โอกาสที่จะมาร่วมเล่นด้วยกันได้ก็ต่อเมื่อมีงานบุญหรืองานประเพณีต่างๆ เช่น บุญเผวด จะมีการแห่กันหลอนของแต่ละคุ้มหรือแต่ละหมู่บ้านมาที่วัดคุ้มไหนหรือหมู่บ้านไหนมีนักดนตรีอะไรก็จะใช้บรรเลงและแห่ต้นกันหลอนมาที่วัด พอมาถึงวัดก็จะมีการผสมผสานกันของแต่ละเครื่องมือ เช่น พิณ แคน ซอ กลองเป็นต้น หลังจากผสมผสานกันโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ก็จะแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเชื่อมเข้าหากันโดยเฉพาะนักดนตรีจะไปมาหาสู่กันร่วมกันเล่น ร่วมกันสร้าง ในที่สุดก็กลายเป็นวงดนตรีและมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เช่น วงโปงลางปี พ.ศ. 2505 หลังจากอาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจและศึกษาพัฒนา การตีและการทำเกราะลอจนเปลี่ยนชื่อมาเป็นโปงลางและได้รับความนิยมจากชาวบ้านโดยทั่วไป จากนั้นอาจารย์เปลื้องได้เกิดแนวความคิด ในการนำเอาเครื่องดนตรีอีสานชนิดอื่นๆ มาบรรเลงรวมกันกับโปงลาง จึงได้รวบรวมสมัครพรรพวกที่ชอบเล่นดนตรี มาบรรเลงรวมกันปรากฏว่าเป็นที่แตกตื่นของชาวบ้าน พอตกเย็นก็จะมีคนมามุงดูขอให้บรรเลงให้ฟัง แต่ละวันหมดยาเส้น ไปหลายหีบ ทำให้ได้รับความนิยม และเป็นที่สนใจของชาวบ้านเป็นอย่างมาก จนมีผู้ว่าจ้างไปบรรเลงเป็นครั้งแรกเนื่องในงานอุปสมบท ณ บ้านปอแดง ตำบลอุ่นเม่า อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในราคา 40 บาท เป็นที่ชื่นชอบของของผู้ที่พบเห็นและได้ฟังจากงานอุปสมบทของบ้านปอแดง และได้รับการติดต่อให้ไปแสดงอีกในหลายๆ ที่ปี พ.ศ. 2511 อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ได้นำคณะโปงลางไปร่วมแสดงเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพรรษา 5 ธันวามหาราช จึงมีโอกาสที่ทำให้ได้พบกับนายประชุม อิทรตุล ป่าไม้อำเภอยางตลาด ซึ่งนายประชุมได้นำวงดนตรีสากลมาร่วมบรรเลงประกอบลีลาศ มหรสพที่แสดงในคืนนั้นมีคณะหมอลำหมู่ ซึ่งหัวหน้าหมอลำเป็นเพื่อนอาจารย์เปลื้อง ทั้งสองจึงไปขอยืมกลองชุดสากล เพื่อนำไปเล่นเข้ากับหมอลำ นายประชุมจึงไม่ขัดข้องแต่ต้องให้วงลีลาศเลิกก่อน หมอลำก็ทำการแสดงไปก่อนได้ครึ่งคืนก็ต้องพักทานข้าวตอนดึกจึงทำให้เกิดช่องว่างของเวทีผู้คนก็ยังไม่กลับยังรอดูหมอลำต่อ อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี จึงได้นำเอาโปงลางที่ตนนำมาขึ้นแขวนบนต้นเสาของเวที ในขณะนั้นหัวหน้าหมอลำก็ยังไม่รู้จัก และไม่เคยเห็น โปงลางมาก่อน ทุกคนก็เกิดความสงสัยว่าอาจารย์เปลื้องนำอะไรขึ้นมาแขวนกับต้นเสาบนเวที แต่พอคณะโปงลางบรรเลงขึ้น ทุกคนต่างตกตะลึง และสงสัยว่าสิ่งที่กำลังตีอยู่ในขณะนั้นคืออะไร หลังจากหมอลำกินข้าวเสร็จผู้ชมก็ยังไม่ยอมให้เลิกเล่น ขอให้เล่นต่อแทนหมอลำไปเลยก็ได้จากการแสดงในครั้งนั้นนี่เอง นายประชุม ได้ชวนอาจารย์เปลื้อง ไปอยู่ด้วยโดยฝากให้เข้าทำงานที่โรงเลื่อยยางตลาด นายประชุม อินทรตุล จึงได้สนับสนุนและตั้งวงโปงลางขึ้น ชื่อว่าวงโปงลางกาฬสินธุ์ โดยมอบหมายให้อาจารย์เปลื้อง เป็นหัวหน้าวง จากผลงานการแสดงที่หลังจากตั้งวงแล้วไม่นาน นายบุรี พรหมลักขโนผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ติดต่อให้นำโปงลางไปแสดงออกรายการทีวีช่อง 5 จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการเผยแพร่ และท่านได้แนะนำว่าน่าจะมีชุดฟ้อนรำไปด้วยจะน่าดูยิ่งขึ้น นายประชุม อิทรตุล จึงมอบหมายให้คุณเกียง บ้านสูงเนิน คุณลดาวัลย์ สิงห์เรือง (ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปะกาฬสินธุ์ในขณะนั้น) และภรรยาของนายประชุมเองฝึกชุดฟ้อน ชุดแรก คือ รำซวยมือ ชุดที่สอง คือ ชุดเซิ้งภูไท ชุดเซิ้งสวิง ชุดบายศรีสู่ขวัญ และไทภูเขาต่อมาคณะโปงลางกาฬสินธุ์ได้มีโอกาสไปแสดง ณ วังสวนจิตลดา วังละโว้ วังสวนผักกาด วังสราญรมย์ และแสดงเผยแพร่ในมหาลัยต่างๆ http://www.youtube.com/watch?v=wm9AJSz39CY&feature=share