โฟโตกราวัวร์




Photogravure เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1830 โดย Henry Fox Talbot ชาวอังกฤษ Nicéphore Niépce ชาวฝรั่งเศส แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จนในปี ค.ศ.1878 Karel Klitsch ได้พัฒนาและทำให้ Photogravure เป็นที่รู้จักในวงกว้าง กระบวนการนี้ใช้จนมาถึงปัจจุบัน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Talbot-Klič process Photogravure ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพราะมีจุดประสงค์ที่จะเตรียมหนทางถาวรที่จะทำให้เกิดการทำภาพซ้ำขึ้นอีก
การพิมพ์กราวัวร์ หรือ โรโตกราววัวร์ (rotogravure) หรือ โฟโตกราวัวร์ (photogravure) มีพัฒนาการมาจากการพิมพ์อินทาลโย คำว่า "roto" มีความหมายว่า"หมุนรอบ" หมายถึง โครงสร้างของแม่พิมพ์ที่เป็นโลหะรูปทรงกระบอกหมุนรอบขณะทำการพิมพ์ ส่วนคำว่า "photo" มีความหมายถึงการนำเอาเทคนิคการถ่ายภาพมาใช้ในกระบวนการทำแม่พิมพ์กระบวนการพิมพ์กระบวนการพิมพ์แกะสลักด้วยการถ่ายภาพบนโลหะ เป็นการพิมพ์ร่องลึกอีกแบบหนึ่ง มีแม่พิมพ์เป็นโลหะ ทรงกระบอก ทำแม่พิมพ์โดยภาพถ่ายกัดกรดให้เป็นหลุมเล็ก ๆ มีขนาดหรือความตื้นลึกแตกต่างกัน ซึ่งมีผลให้งานพิมพ์มีความเข้มของสีแตกต่างกัน วิธีนี้สามารถพิมพ์บนวัสดุได้หลายชนิด เช่น การพิมพ์กระดาษปิดฝาผนัง แสตมป์ และบรรจุภัณฑ์เป็นต้น โมแม่พิมพ์กราวัวร์ถูกสร้างขึ้นโดยการถ่ายทอดภาพลงสู่ผิวหน้าโมแม่พิมพ์นั้น แล้วนำไปกัดด้วยวิธีทางเคมี ปัจจุบันยังสามารถสร้างภาพโดยวิธีการเจาะโมแม่พิมพ์ด้วยเครื่องเจาะหัวเพชรหรือเครื่องยิงแสงเลเซอร์ บริเวณภาพบนแม่พิมพ์ประกอบด้วยบ่อหมึกขนาดเล็กๆ จำนวนมาก บ่อหมึกแต่ละบ่อจะแยกจากกันโดยมีผนังหรือกำแพงกั้นอยู่ โมแม่พิมพ์ส่วนใหญ่ทำจากเหล็กกล้าที่นำมาชุบด้วยนิเกิลและทองแดงตามลำดับ จากนั้นจึงทำการสร้างภาพบนผิวโมแม่พิมพ์ทองแดงนั้น เสร็จแล้วนำไปชุบเคลือบผิวด้วยโครเมียมอีกครั้งเพื่อเพิ่มความแข็งให้กับแม่พิมพ์
การพิมพ์กราวัวร์ใช้หลักวิธีการพิมพ์ทางตรง โดยในขณะพิมพ์นั้นบางส่วนของโมแม่พิมพ์จะแช่อยู่ในอ่างหมึกพิมพ์ หมึกพิมพ์ที่ใช้จะมีความหนืดต่ำ มีลักษณะเหลวคล้ายน้ำ โมแม่พิมพ์จะหมุนรอบตัวเองเพื่อรับหมึกพิมพ์อยู่ตลอดเวลา หมึกพิมพ์จะไหลเข้าเกาะตามบ่อหมึกต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามขนาดและความลึกของแต่ละบ่อ หมึกพิมพ์ส่วนเกินซึ่งเกาะอยู่ตามบริเวณผิวแม่พิมพ์จะถูกปาดออกด้วยใบปาดหมึกให้กลับลงไปในอ่างหมึกพิมพ์ เมื่อวัสดุใช้พิมพ์เคลื่อนมาสัมผัสกับโมแม่พิมพ์ จะเกิดการถ่ายโอนหมึกพิมพ์จากบ่อหมึกเหล่านั้นลงสู่วัสดุใช้พิมพ์ โดยอาศัยแรงกดพิมพ์จากลูกโมกดพิมพ์ซึ่งจะใช้แรงกดโดยเฉลี่ยน้อยกว่าการพิมพ์อินทาลโยประมาณ 5-10 เท่า

โดยทั่วไปแล้วเครื่องพิมพ์กราวัวร์ถูกออกแบบมาสำหรับใช้พิมพ์บนวัสดุใช้พิมพ์ประเภทป้อนม้วนซึ่งจะพิมพ์ได้ด้วยความเร็วสูง จุดเด่นประการหนึ่งของการพิมพ์กราวัวร์ คือ สามารถพิมพ์บนวัสดุใช้พิมพ์ได้หลายประเภท เช่น กระดาษ ฟิล์มพลาสติก อะลูมิเนียมเปลว ( Aluminium foil) และวัสดุที่ลามิเนตแล้วชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังให้ผลงานพิมพ์ที่มีคุณภาพสูงเป็นที่น่าพอใจอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการทำแม่พิมพ์ก็สูงมากเช่นกัน จึงเหมาะสำหรับงานพิมพ์ที่มีปริมาณการผลิตสูงเท่านั้น