สมัยเมืองพัทลุงที่พะโคะ ของ โมกอล

ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 ได้มีการย้ายศูนย์อำนาจการปกครองของเมือง สทิงพระ (นิยายปรัมปราบอกว่า เพี้ยนจากคำว่า จะทิ้งพระ แต่ความจริงเมืองนี้มีชื่อมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยว่า สตรึงเพรียะ) มาอยู่บริเวณ วัดพะโคะ เมืองสทิงพระแห่งใหม่นี้เจริญรุ่งเรืองต่อมาระยะหนึ่ง จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ก็หมดความสำคัญลงและได้เกิดศูนย์อำนาจการปกครองท้องถิ่นแห่งใหม่ขึ้นในบริเวณดังกล่าว โดยเรียกเมืองใหม่นี้ว่าเมืองพัทลุง ซึ่งเจริญรุ่งเรืองระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-22 เมืองพัทลุงที่พะโคะมีความเจริญด้านพุทธศาสนามาก ได้รับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาโดยมีวัดพะโคะเป็นศูนย์กลางของคณะสงฆ์ฝ่ายลังกาชาติ ต่อมาในระหว่างพุทธศตวรรษที่20-22 เมืองพัทลุงที่พะโคะถูกพวกโจรสลัดมลายู เช่น พวกอาเจะฮ์ อาหรู อุชงคนตะ ฯลฯ รุกรานเข้าปล้นสะดมหลายครั้ง มีการเผาทำลายบ้านเมืองและวัดวาอาราม ประชาชนต่างหนีภัยพวกโจรสลัดจึงไปตั้งชุมชนแห่งใหม่ขนาดใหญ่ขึ้น 2 แห่ง คือ ที่บางแก้ว อำเภอเขาชัยสน กลายเป็นเมืองพัทลุงใหม่และอีกแห่งคือที่หัวเขาแดง ซึ่งมีชัยภูมิดี เพราะมีเทือกเขาเป็นปราการธรรมชาติถึง 2 ด้าน จึงสามารถต่อสู้กับพวกโจรสลัดได้ชุมชนแห่งนี้ค่อย ๆเจริญจนกลายเป็นเมืองสงขลาที่หัวเขาแดง