ศัพทมูลและนิยาม ของ โยนิโสมนสิการ

คำ "โยนิโสมนสิการ" นั้นประกอบด้วยคำสองคำ คือ[3]

  • "โยนิโส" มาจาก "โยนิ" แปลว่า เหตุ ต้นเค้า แหล่งเกิด ปัญญา อุบาย วิธี ทาง
  • "มนสิการ" หมายถึง การทำในใจ การคิด คำนึง นึกถึง ใส่ใจ

ดังนั้น "โยนิโสมนสิการ" จึงหมายถึง การทำในใจให้แยบคาย หรือ การพิจารณาโดยแยบคาย กล่าวคือ ความเป็นผู้ฉลาดในการคิด คิดอย่างถูกวิธีถูกระบบ พิจารณา ไตร่ตรองสาวไปจนถึงสาเหตุหรือต้นตอของเรื่องที่กำลังคิด คือคิดถึงรากถึงโคนนั่นเอง แล้วประมวลความคิดรอบด้านจนกระทั่งสรุปออกมาได้ว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควร ดีหรือไม่ดี เป็นวิถีทางแห่งปัญญา เป็นธรรมสำหรับกลั่นกรองแยกแยะข้อมูลหรือแหล่งข่าวหรือที่เรียก "ปรโตโฆสะ" อีกชั้นหนึ่ง กับทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดชอบหรือ "สัมมาทิฐิ" ทำให้มีเหตุผล และไม่งมงาย [4]

       คัมภีร์ในพระไตรปิฎก ชั้นอรรถกถาและฎีกาได้แสดงไวพจน์แจกแจงความหมายในแง่ต่าง ๆ ของโยนิโสมนสิการว่า
  • "อุบายมนสิการ" เป็น การคิดหรือพิจารณาโดยอุบาย คือ การคิดอย่างมีวิธีหรือถูกวิธี ซึ่งหมายถึง การเข้าถึงความจริง สอดคล้องกับแนวสัจจะ ซึ่งทำให้รู้สภาวลักษณะและสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย
  • "ปถมนสิการ" เป็น การคิดถูกทาง ต่อเนื่องเป็นลำดับ หมายถึง ความคิดที่เป็นระเบียบตามหลักเหตุผล ไม่ยุ่งเหยิงสับสน จิตไม่แว๊บติดพันในเรื่องนี้ แต่เดี๋ยวกลับเตลิดไปคิดอีกเรื่องหนึ่ง จิตยุ่งเหยิงนี้กระโดดไปมา ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่รวมทั้งความสามารถในการชักความนึกคิดไปสู้แนวทางที่ถูกต้อง
  • "การณมนสิการ" เป็น การคิดอย่างมีเหตุผล เป็นการสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย พิจารณาสืบสาวหาสาเหตุ ให้เข้าใจถึงต้นเค้า หรือแหล่งที่มาซึ่งส่งผลต่อเนื่องตามลำดับ
  • อุปปาทกมนสิการ การคิดการพิจารณาให้เกิดกุศลธรรม เช่น การพิจารณาที่ทำให้มีสติ หรือทำให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง เป็นต้น

ไขความทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นเพียงการแสดงลักษณะด้านต่างๆ ของความคิดแบบโยนิโสมนสิการ ซึ่งการเกิดในแต่ละครั้ง อาจมีลักษณะครบทั้ง 4 ข้อ หรือเกิดครบทั้งหมด หรือเขียนลักษณะทั้ง 4 ข้อนี้สั้นๆ ได้ว่า คิดถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดมีเหตุผล คิดเร้ากุศล[5]

ใกล้เคียง