โรคห่า

โรคห่า หรือ ห่ากินเมือง คือ โรคระบาดร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็­­ว ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ห่า มีความหมายถึงผีจำพวกหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้คนตายจำนวนมาก เช่น โรคลงราก (อหิวาตกโรค) กาฬโรค จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคห่า[1]การที่ตีความว่าโรคห่าคืออหิวาตกโรค (cholera) เพียงอย่างเดียวนั้นน่าจะเกิดจากการตีความโบราณศัพท์ผิดพลาดเนื่องด้วยประวัติศาสตร์ด้านโรคระบาดที่มีข้อมูลชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ โรคระบาดร้ายแรงที่เกิดขึ้นบ่อยคืออหิวาตกโรค ดังเช่น ห่าลงปีระกาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยปรากฏในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ว่า ...เมื่อเดือน 7 ปีมโรงโทศกนั้น อหิวาตกะโรค หรือที่เรียกในเวลานั้นว่า ไข้ป่วงใหญ่ เริ่มมาเกิดขึ้นเปนคราวใหญ่ที่ผู้คนเปนอันตรายมาก...— จากพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์[2]สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่าไข้ป่วงที่เกิดขึ้นในพงศาวดารคืออหิวาตกโรค สำหรับคำว่า อหิวาตก ในหนังสือศัพทานุกรมโบราณร่วมสมัยที่ชื่อว่า อักขราภิธาน ของหมอบรัดเล ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2416 ได้ให้คำจำกัดของคำว่า หมายถึง โรคลมมีพิศม์ เสมือนพิศม์งูนั้น ซึ่งสามารถตีความได้ว่าเป็นโรคลมประเภทหนึ่งเท่านั้น[3] นอกจากนี้ อหิวาตกภัย ในสมัยโบราณนั้น เมืออ้างอิงจากจารึกตำราวัดพระเชตุพน พบว่าประกอบด้วย ไข้ออกดำ ไข้ออกแดง ไข้ดาวเรือง ไข้มะเร็งทูม ไข้สังวาลย์พระอินทร์ ไข้กระดานหิน ไข้มหาเมฆ ไข้หงส์ระทด ไข่ลากสาดสายฟ้าฟาด ไข้ไฟเดือนห้า ไข้ละอองไฟฟ้า ไข้ข้าวไหม้น้อย ไข้มหานิส ไข้ฟองปานแดง แต่เนื่องจากจารึกตำราชุดนี้หายไปหลายแผ่น จึงไม่ทราบโรคที่เรียกว่าอหิวาตกภัยทั้งหมด ทำให้เข้าใจได้ว่า อหิวาตกภัย ในจารึกวัดพระเชตุพนหมายถึงโรคระบาด[3]ทั้งนี้ โรคระบาดหรือโรคห่าที่สำคัญตามพระราชบัญญัติระงับโรคระบาด พ.ศ. 2456 ระบุไว้สามโรค คือ อหิวาตกโรค กาฬโรค และไข้ทรพิษ[4]