ชื่อโรงพยาบาลพระราชทาน ของ โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงพยาบาลลพบุรีใหม่ เป็น “โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช” เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงนำความเจริญด้านการแพทย์มาสู่ประเทศไทย และจังหวัดลพบุรี ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำในเขตภาคกลาง ภายในปี 2555

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อโรงพยาบาลลพบุรีใหม่ ว่า “โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช” ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ทรงสร้างเมืองลพบุรีให้เป็นราชธานีแห่งที่ 2 ทรงเป็นผู้นำวิทยาการสมัยใหม่และความเจริญด้านต่างๆ เกือบทุกด้านมาสู่ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนวดไทย โดยมีการผสมผสานการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนตะวันตก ปรากฏอยู่ในหลักฐานตำรา “พระโอสถพระนารายณ์” เป็นตำรายา 81 ตำรับ มีตัวยาปรากฏในตำรามากกว่า 300 ชนิด

โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราชเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ตั้งอยู่ใน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เปิดบริการมาแล้ว 54 ปี ปัจจุบันมีเตียงรับผู้ป่วย 428 เตียง มีบุคลากรให้บริการ 958 คน โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขารวม 42 คน ทันตแพทย์ 8 คน เภสัชกร 12 คน พยาบาลวิชาชีพ 310 คน ขณะนี้ได้เร่งพัฒนาคุณภาพบริการทุกด้าน โดยภายในปี 2555 จะพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำในเขตภาคกลาง และเป็นศูนย์แพทย์เชี่ยวชาญด้านมะเร็งในระดับต้น เป็นพึ่งพาของประชาชน

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช มีผลงานการพัฒนาดีเด่นมากมาย เช่น เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ได้รับมาตรฐานการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด เป็นสถานที่ทำงานที่น่าอยู่ งานโภชนาการประกอบอาหารให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลดีเด่นในระดับ “ดีมาก” ได้รับรางวัลเป็นโรงพยาบาลคุณภาพตามมาตรฐานด้านการส่งเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2549 งานอนามัยแม่และเด็กดีเด่นระดับเขต ได้รับการรับรองเป็นโรงพยาบาลสายใยรักระดับทอง พ.ศ. 2551 ผ่านการรับรองเป็นโรงพยาบาลคุณภาพตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และการรับรองการให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลันดีเยี่ยม พ.ศ. 2549

ต่อวันมีประชาชนเข้ารับบริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 1,363 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 24 รองลงมา คือ เบาหวาน ร้อยละ 15 มีผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลวันละ 355 ราย ที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคท้องร่วงร้อยละ 32 รองลงมา คือ โรคหัวใจล้มเหลวร้อยละ 11 ทำผ่าตัดใหญ่วันละ 29 ราย และกำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารเพื่อขยายเป็นโรงพยาบาลศูนย์ต่อไป

ใกล้เคียง

โรงพยาบาลในประเทศไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลหั่วเฉินชาน โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช