โรงเรียนกฎหมาย
โรงเรียนกฎหมาย

โรงเรียนกฎหมาย

โรงเรียนกฎหมาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2440 โดยพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (ฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งขณะนั้น) เพื่อให้การศึกษาอบรมด้านนิติศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ดี แม้ครั้งนั้นมีสถานะเป็นแต่โรงเรียน อันมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ แต่ก็มีประกาศของโรงเรียน เกี่ยวกับกำหนดการสอบไล่ของนักเรียนกฎหมาย ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวราชการด้วย[ต้องการอ้างอิง] สำหรับที่ตั้งของโรงเรียนกฎหมาย ได้แก่ห้องเสวยของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอยู่ถัดจากห้องทรงงาน[ต้องการอ้างอิง] โดยเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงให้การศึกษาด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงเสร็จสิ้นการเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว ครั้นมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงย้ายไปทำการเรียนการสอน ยังตึกสัสดีหลังกลาง กระทรวงยุติธรรมต่อมาในปี พ.ศ. 2453 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ฯ ทรงพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม หลังจากนั้น โรงเรียนกฎหมายก็ทรุดโทรมตามลำดับ และต้องไปเปิดการเรียนการสอน เป็นการชั่วคราวที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร และที่เรือนไม้หลังเล็กๆ ระหว่างตึกศาลแพ่งกับตึกเก๋งจีน ซึ่งบัดนี้ทำลายลงแล้ว และปี พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับโรงเรียนแห่งนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยให้สังกัดอยู่กับกระทรวงยุติธรรม และให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโรงเรียน โดยย้ายสถานที่เรียนมายังอาคารห้างแบดแมนเดิม บริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา (ปัจจุบันเป็นที่จอดรถข้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล)จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลจัดตั้งคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้น ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วให้โอนโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ไปสมทบกับคณะดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 เมษายน ปีนั้นเอง[1] ครั้งนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดให้การเรียนการสอน ของโรงเรียนกฎหมาย เป็นแผนกวิชาหนึ่งของคณะนี้ อนึ่ง การเรียนการสอนยังคงจัดอยู่ที่อาคาร เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาเช่นเดิม[2] ซึ่งคำสั่งให้โอนโรงเรียนกฎหมาย ไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ สร้างความไม่พอใจแก่นักเรียนของโรงเรียนกฎหมาย ที่ต้องการให้ยกสถานะโรงเรียนของตนเป็นมหาวิทยาลัย แต่รัฐบาลกลับทำให้เสมือนยุบหายไป กลุ่มนักเรียนกฎหมายดังกล่าว จึงเคลื่อนไหวหนุนให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น[3] ทั้งนี้ เมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติฯ ให้โอนทรัพย์สิน ตลอดจนคณาจารย์ ของโรงเรียนกฎหมายเดิม เข้าสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้ด้วย[4]

ใกล้เคียง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนราชินี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย