อาคารและสถานที่ ของ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีส

พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีสเป็นอาคารหลักแรกของโรงเรียนที่สร้างด้วยไม้สัก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2448 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ใช้เป็นสถานที่รับเสด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานนามโรงเรียนในปี พ.ศ. 2449 สมัยศาสนาจารย์วิลเลียม แฮรีสได้ใช้เป็นบ้านพักและอาคารอำนวยการ ต่อมา ได้ใช้เป็นอาคารดนตรีและห้องซ้อมดุรยางค์[1] วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ได้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้บ้านแฮรีส ทางโรงเรียนได้ก่อสร้างบ้านแฮรีสขึ้นใหม่ตรงที่ตั้งเก่าตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดิมทุกประการ โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2536[1]

พ.ศ. 2540 อดีตผู้อำนวยการ พงษ์ ตนานนท์ ดำริจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โรงเรียนขึ้นมา เมื่อเสร็จแล้วจึงนับเป็นพิพิธภัณฑ์โรงเรียนแห่งแรกในภาคเหนือ[1] ภายในอาคารเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นภาพเหตุการณ์สำคัญมากกว่า 500 ภาพ

สถาบันแฮรีส

สถาบันแฮรีส หรือ "อาคาร 100 ปี" (Harris Institute) จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การพัฒนาการเรียนรู้แบบพหุปัญญา ส่งเสริมทักษะความสามารถของนักเรียนในการคิด ทำและวิเคราะห์ ตลอดจนเพื่อให้เป็นอาคารศูนย์กลางการค้นคว้าด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นการจัดเตรียมสถานที่การเรียนการสอนตามที่โรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการเรียนรู้ในโครงการจัดการการเรียนรู้บนพื้นฐานของการพัฒนาสมอง[10] รูปแบบของอาคาร เกิดจากการทำงานร่วมกันของศิษย์เก่าที่เรียนจบทางด้านสถาปนิก เน้นการออกแบบให้เด็กมีพื้นที่ทำกิจกรรมและการแสดงออกให้มากที่สุด โดยมีทั้งหมด 4 ชั้น พื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ค่าก่อสร้างประมาณตารางเมตรละ 1 หมื่นบาท มีการทำพิธีวางฐานรากเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2549[10]

27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดสถาบันแฮรีสอย่างเป็นทางการ[11]

โบสถ์

โบสถ์ประจำโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ก่อสร้างขึ้นด้วยเงินบริจาคจากแรงศรัทธาของคริสตศาสนิกชนทั้งชาวไทยและอเมริกัน โดยพ่อครูดร.วิลเลียม แฮรีส เป็นผู้นำในการก่อตั้งโบสถ์ขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2472 เมื่อทุนทรัพย์พร้อมแล้ว นายแวน แอลเล็น แฮรีส (Van Allen Harris) น้องชายของพ่อครูแฮรีสซึ่งเป็นสถาปนิกและวิศวกร ได้เดินทางมายังเชียงใหม่ เพื่อออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโบสถ์ โดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ จนก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2473

อาคารโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นที่นำเอาลักษณะอย่างโกธิคมาประยุกต์ใช้ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาจั่ว ภายในเพดานสูงตามรูปจั่ว รองรับด้วยโครงหลังคาแบบ Hammer-beam roof ที่ทำเป็นซุ้มโค้งแหลมเป็นการนำเอาโครงสร้างอาคารมาเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งได้อย่างดียิ่ง ส่วนองค์ประกอบต่างๆ เรียบง่าย แต่ยังคงไว้ซึ่งความสง่าและศักดิ์สิทธิ์ และได้ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจประจำโรงเรียนตลอดมา[12] ซึ่งโบสถ์เป็นสถานที่สำคัญของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่นมัสการพระเจ้า

โรงละคร

สร้างขึ้นพร้อมกันกับโบสถ์ของโรงเรียน เมื่อปี ค.ศ.1929 เพื่อใช้งานอเนกประสงค์ เป็นสถานที่ใช้จัดกิจกรรมสร้าง เสริม การเรียนรู้ของนักเรียน การประชุม การแสดงและรวมถึงใช้จัดอบรมจริยธรรม โรงละครนี้สร้างขึ้นโดยเงินบริจาคจากสหายร่วมชั้นเรียน ในมหาวิทยาลัยปรินสตันของ พ่อครู ดร.วิลเลียม แฮรีส ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยน้องชายของพ่อครูชื่อ วอลเตอร์ และแวน เอลเล็น แฮรีส

อนุสาวรีย์หินหัวมุม

สร้างขึ้นโดยสมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เพื่อเป็นที่ระลึกในการก่อตั้งโรงเรียน และได้นำแผ่นจารึกเมื่อครั้นพระราชทานนามโรงเรียน ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ พระราชทานให้เมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1906 ไปประดิษฐานไว้

ใกล้เคียง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนราชินี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย http://asaconservationaward.com/index.php/2016-06-... http://www.ch7.com/news/news_royal_detail.aspx?c=1... http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=45... http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=45... http://www.prachatai.com/journal/2005/08/21373 http://www.sufficiencyeconomy.org/upload/data_even... http://www.prc.ac.th/ http://www.prc.ac.th/giftedmath/about.htm http://www.prc.ac.th/history.html http://chiangmainews.co.th/read.php?id=5301