ประวัติโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ ของ โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์

แต่เดิมกุลสตรีในจังหวัดราชบุรีได้อาศัยเล่าเรียนรวมอยู่ในโรงเรียนประจำมณฑลราชบุรี "เบญจมราชูทิศ"

ต่อมาพระยาคฑาธรบดีสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีและรองอำมาตย์เอกหลวงสรรพพากย์พิสุทธิ์ ธรรมการมณฑลได้เห็นความจำเป็นแห่งการศึกษาของเด็กหญิงในจังหวัดนี้จึงได้ชักชวนบรรดาพ่อค้าข้าราชการและราษฎรบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงเรียนสตรีขึ้น แต่การดำเนินการยังไม่เป็นผลสำเร็จเนื่องจากพระยาคฑาธรบดีได้ออกจากราชการเสียก่อน พระยาอรรถการบดีซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑล และพระยาอรรถกวีสุนทรผู้ว่าราชการจังหวัดได้ดำเนินการต่อ โดยรวบรวมเงินบริจาคจากประชาชนชาวราชบุรีและเงินงบประมาณสมทบส่วนหนึ่งเป็นจำนวนเงิน 11,128 บาท สร้างอาคารไม้ 2 ชั้น จำนวน 5 ห้องเรียนมีห้องกลางเป็นห้องโถงทั้งชั้นบนและชั้นล่างบนเนื้อที่ราชพัสดุจำนวน 5 ไร่เศษ (ตั้งอยู่ติดกับที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขในปัจจุบัน)

มหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้ประทานนามโรงเรียนว่า "ราชโบริกานุเคราะห์" โดยถือความหมายว่า เป็นโรงเรียนที่ประชาชนชาวราชบุรีอนุเคราะห์จัดสร้างขึ้น

วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ได้ทำพิธีเปิดอาคารเรียน โดยสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสด็จเป็นประธานในพิธี ผู้บริหารในขณะนั้น คือ นางสาวกิมจุ้ย คุณวิศาล (คุณน้ำทอง คุณวิศาล)

โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึงประถมปีที่ 6 และมัธยมปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 6

ปี พ.ศ. 2479 หลวงนิคมคณารักษ์ (เทียน กำเนิดเพชร) ปลัดจังหวัดราชบุรีได้ดำเนินการสร้างอาคารอีกหลังเป็นอาคาร 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ สร้างด้วยเงินเรี่ยไรจากประชาชน และเงินค่าเล่าเรียน รวมทั้งเงินที่กระทรวงธรรมการให้มาสมทบ อาคารหลังนี้คือ "คุรุสัมมนาคาร" ซึ่งอยู่ในบริเวณสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรีเขต 1 ในปัจจุบัน

โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ดำเนินการมาด้วยดีจนถึงปีการศึกษา 2514 กรมสามัญศึกษาได้พิจารณาคัดเลือกโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์เข้าร่วมโครงการพัฒนาโรงเรียนมัธยมส่วนภูมิภาค (คมภ.1) รุ่นที่ 3 โรงเรียนจำเป็นต้องหาที่ดินแห่งใหม่ เพื่อการรับนักเรียนให้มากขึ้น

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 โรงเรียนได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยให้ใช้ที่ดินของราชพัสดุซึ่งเคยเป็นสนามบินของจังหวัด 14 ไร่เศษ กรมสามัญศึกษาได้เห็นชอบในการแลกเปลี่ยนที่ดิน และอาคารเดิมของโรงเรียนกับสำนักงานศึกษาธิการเขต เขตการศึกษา 5 มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ได้แลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รวมเนื้อที่ 27 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา

ใกล้เคียง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเซนต์ดอมินิก โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม