ประวัติโรงเรียน ของ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า

กำเนิด

ด้วยนางฉวี ทัศนปรีดามีความรู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงแผ่เมตตาบารมีคุ้มเกล้าฯ พสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในด้านการศึกษาของเยาวชน จึงเกิดความศรัทธาเปี่ยมด้วยความจงรักภักดีที่จะได้มีโอกาสโดยเสด็จพระราชกุศล ด้วยการน้อมเกล้าฯถวายที่ดินถมแล้วติดริมถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล ๓) แขวงสะพานสูง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร จำนวน ๔ โฉนดติดต่อกัน ได้แก่ โฉนดเลขที่ ๖๐๑๕๔-๖๐๑๕๗ รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๑๐ ไร่ ๓ งาน ๒๘ ตารางวา มูลค่าในขณะนั้นประมาณ ๒๐ ล้านบาท ทั้งนี้ตามราคาประเมินของหัวหน้าเจ้าพนักงานที่ดินเขตบางกะปิ โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ และขอพระบารมีปกเกล้าฯ พระราชทานที่ดินแปลงนี้ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อจัดสร้างโรงเรียนมัธยม ศึกษา อันจะเกิดประโยชน์แก่การพัฒนาเยาวชนในท้องถิ่นได้ทั่วถึงยิ่งขึ้นไป

ทั้งนี้นางฉวี ทัศนปรีดา ได้มอบหมายให้นางอิราวดี นวมานนท์ ผู้เป็นหลานและเป็นกรรมการผู้หนึ่งของสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ติดต่อท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ ในฐานะนายกสมาคมฯ ขอความอนุเคราะห์เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานราชเลขาธิการ ซึ่งคุณหญิงสุชาดาได้ติดต่อประสานงานมาโดยตลอด โดยได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำนางฉวี ทัศนปรีดา เข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเพื่อพระราชทานแก่กระทรวงศึกษาธิการ จัดสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษา เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แทนพระองค์ ในวันพุธที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

เริ่มเปิดสอน

เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้รับพระราชทานที่ดินแล้ว ได้ประกาศตั้งโรงเรียนเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ตามความปรารถนาของเจ้าของที่ดินและได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียน ตามคำสั่งกรมสามัญศึกษา ที่ ๒๗๙๙/๒๖ ลงวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ให้นายอัศวิน วรรณวินเวศร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครองโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ มาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งครูใหญ่ ๕ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นับเป็นผู้บริหารคนแรกของโรงเรียน

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบประมาณปีพ.ศ. ๒๕๒๖ สำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนและส่วนประกอบอื่นๆเท่าที่จำเป็นก่อน เพื่อให้ทันเปิดรับนักเรียนในปีการศึกษา ๒๕๒๗ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๘ ห้องเรียน มีนักเรียนจำนวน ๔๐๐ คน และเนื่องจากอาคารสถานที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง แต่มีสถานที่บางส่วนเสร็จเรียบร้อยแล้วและพร้อมที่จะดำเนินการได้ จึงได้ย้ายนักเรียนมาเรียนตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดเรียนภาคเรียนที่ ๒ ซึ่งในปัจจุบันโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้าได้เจริญก้าวหน้า พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยในปัจจุบันมีนักเรียนกว่า ๔,๐๐๐ คน ที่ดิน ๑๕ ไร่เศษ มีอาคารเรียน ๓ หลัง สูง ๕ ชั้น มีห้องสมุด ห้องสารสนเทศ ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ สนามกีฬา ศูนย์ดนตรี ห้องเรียนตามกลุ่มสาระวิชาต่างๆซึ่งมีความทันสมัย อีกทั้งยังมีโดมขนาดใหญ่อีก ๒ หลัง ที่ติดตั้งพัดลมไอน้ำเอาไว้ ด้วยอาศัยผู้บริหาร คณะครู ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า นักเรียน รวมถึงผู้ที่มีจิตศรัทธาที่ร่วมกันพัฒนาจนเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้าในปัจจุบัน

ใกล้เคียง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนราชินี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า http://maps.google.com/maps?ll=13.784147,100.69252... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7841... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=13.784147&long=100.... http://www.wikimapia.org/maps?ll=13.784147,100.692... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://tun.ac.th http://www.tun.ac.th/ http://www.tun.ac.th/datashow_46967 http://archive.vn/LtQMI