สโมสรโรตารีในประเทศไทย ของ โรตารีสากล

สองทศวรรษหลังจากโรตารีได้ถือกำเนิดขึ้นในนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 (ค.ศ.1905)

ในบริเวณภาคพื้นแหลมทอง โรตารีได้ไปเริ่มก่อตั้งสโมสรแห่งแรกที่นครกัวลาลัมเปอร์ ในปี พ.ศ. 2471 (ค.ศ.1928) โดย โรแทเรียน เจมส์ ดับบลิว. เดวิดสัน แห่งสโมสรโรตารีแคลแกรี่ เมืองอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา (Rtn James W. Davidson, Rotary Club of Calgary, Alberta, Canada) ได้รับการแต่งตั้งจากโรตารีสากลเป็นผู้แทนพิเศษผู้มีอำนาจเต็ม (General Commissioner) ในการก่อตั้งสโมสรโรตารี เดินทางมายังภาคตะวันออก เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการก่อตั้งสโมสรต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ และประสบความสำเร็จในการก่อตั้งสโมสรโรตารีถึง 7 สโมสรในสหพันธรัฐมลายูภายในเวลาสองปี หลังจากนั้นจึงได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย

เจมส์ ดับบลิว. เดวิดสัน ได้ขอพระราชทานวโรกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เพื่อกราบทูลถวายเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของโรตารีให้ทรงทราบโดยละเอียด อีกทั้งยังได้ขอให้พระองค์ประทานพระดำริในอันที่จะก่อตั้งสโมสรโรตารีแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2473 ( ค.ศ. 1930 )เสด็จในกรมฯ ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบในอุดมการณ์ของโรตารี ดังนั้น สโมสรโรตารีแห่งแรกในประเทศไทย จึงได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2473 (ค.ศ.1930) เรียกชื่อว่า "สโมสรโรตารีกรุงเทพ" และได้รับสารตราตั้ง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2473 มีสมาชิกก่อตั้งรวม 69 ท่าน ซึ่งมีสัญชาติต่างๆ อยู่ถึง 15 ชาติด้วยกัน โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งท่านหนึ่ง การประชุมก่อตั้งได้จัดทำขึ้น ณ พระราชวังพญาไท (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร) โดยเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงรับเป็นนายกก่อตั้งสโมสร

ปี พ.ศ. 2498 ( ค.ศ. 1955)ในวาระที่โรตารีในประเทศไทยครบรอบ 25 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ของโรตารีในประเทศไทย อดีตนายกหลวงสิทธิสยามการ ได้แปลธรรมนูญและข้อบังคับของโรตารีสากลเป็นภาษาไทยสำเร็จเป็นครั้งแรก

ปี พ.ศ. 2501 ( ค.ศ. 1958 )ได้มีการก่อตั้งสโมสรโรตารีธนบุรี เป็นสโมสรที่สองของประเทศไทยและเป็นสโมสรแรกที่ใช้ภาษาไทยในการประชุมมีพระยามไหสวรรย์เป็นนายกก่อตั้ง

ปี พ.ศ. 2523 ( ค.ศ. 1980 )ในวาระที่โรตารีในประเทศไทยครบรอบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถพร้อมทั้งพระเจ้าลูกเธอได้เสด็จร่วมงาน ฉลองฯ ที่สวนอัมพร โดยมีอดีตผู้ว่าการภาคเนลสันอเล็กซานเดอร์ ( Nelson Alexander) ในฐานะผู้ว่าการภาคถวายการต้อนรับสโมสรโรตารีธนบุรีและหนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์ร่วมกับการสื่อสารแห่ง ประเทศไทย ได้จัดแสตมป์โรตารี ออกจำหน่าย เพื่อเป็นที่ระลึกโรตารีครบรอบ 50 ปี

ปี พ.ศ. 2533 ( ค.ศ. 1990 ) โรตารีในประเทศไทยฉลองครบรอบ 60 ปี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2533 และได้สร้างสังคีตศาลาขึ้นบริเวณ "สนามราษฎร์" ในสวนหลวง ร. 9

ปี พ.ศ. 2535 ( ค.ศ. 1992 )โรตารีสากล อนุมัติให้จัดแบ่งภาค จาก 2 ภาค คือ 335 และ 336 เป็น 4 ภาค มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2535 เป็นต้นไป และในปีนั้น โรตารีสากล ได้จัดระเบียบการให้หมายเลขจาก 3 ตัว เป็น 4 ตัว ภาคในประเทศไทย จึงได้หมายเลขภาคเป็น 3330,3340, 3350 และ 3360 มีการจัดตั้งศูนย์โรตารีในประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2542 ( ค.ศ. 1999 ) ในปีนี้มีจำนวนสโมสรประมาณ 255 สโมสรและจำนวนสมาชิกประมาณ 5,600–5,800 ท่าน และได้มีการจัดประชุมใหญ่ภาคร่วม 4 ภาคครั้งที่ 1 ที่จังหวัดเชียงใหม่

ปี พ.ศ. 2543 ( ค.ศ. 2000)วันที่ 28 พฤศจิกายน โรตารีในประเทศไทยฉลองครบรอบ 70 ปี มีการเฉลิมฉลองและ บำเพ็ญประโยชน์เป็นกรณีพิเศษ และรับสโมสรโรตารีพนมเปญ แห่งประเทศกัมพูชา เข้าภาค 3350 และ มีการก่อตั้งสโมสรกรุงเทพ-สุริวงศ์ พูดภาษาญี่ปุ่น,ก่อตั้งสโมสรกรุงเทพ-บางนา พูดภาษาจีนกลาง และมีคนไทยคนแรก ได้ดำรงตำแหน่งประธานโรตารีสากล คือนาย พิชัย รัตตกุล โดยมี คำขวัญประจำปีว่า " มีน้ำใจ ให้ความรัก" ( Sow the Seeds of Love) เป็นการฉลองตำแหน่งประธานโรตารีสากลของคนไทยคนแรก ได้มีการจัดทำคู่มือปฏิบัติการโรตารีฉบับ 2001 เป็นภาษาไทยสำเร็จอีกครั้งโรตารีในประเทศไทยครบรอบ 72 ปี มีการจัดทำซัพพลีเม้นท์ฉบับครบรอบ 72 ปี ในประชาชาติธุรกิจ จัดประชุมใหญ่ร่วม 4 ภาค ครั้งที่ 2