ประวัติ ของ โลโซ

ก่อตั้งวง

จุดเริ่มต้นของวงโลโซเริ่มเกิดขึ้นจาก เสกสรรค์ ศุขพิมาย (เสก) โดยเสกได้เข้าสู่เส้นทางดนตรีอาชีพโดยการตระเวนเล่นดนตรีอาชีพตามผับในหลายจังหวัด และได้ไปเรียนงานช่างไฟฟ้าที่วิทยาลัยสารพัดช่างนครราชสีมา จากนั้นก็ได้เจอกับเพื่อนนักดนตรีอาชีพเดียวกันอย่าง อภิรัฐ สุขจิตร์ (รัฐ) และ กิตติศักดิ์ โคตรคำ (ใหญ่) ซึ่งมีความรักในสิ่งเดียวกันนั่นก็คือดนตรีและมีหัวคิดทางดนตรีที่ก้าวหน้าเหมือนกัน โดยเสกชอบแนวดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกแบบวงเนอร์วานา ซึ่งมีสมาชิกวงเพียงแค่ 3 คน จึงได้ตกลงคุยกันและร่วมกันก่อตั้งวง ในนามโลโซ โดยชื่อของวงดัดแปลงมาจากคำว่า ไฮโซ ซึ่งมาจากคำที่มีความหมายถึงคนชั้นสูง โดยชื่อโลโซนี้เป็นคำที่สะท้อนให้เห็นถึงต้นกำเนิดของวงรวมถึงเป็นการถ่อมตน

ในปลายปี พ.ศ. 2537 ภายหลังจากการตั้งวงโลโซ จึงได้เดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร เพื่อตระเวนเล่นดนตรีตามผับต่าง ๆ แต่ได้มีเหตุผลบางอย่างทำให้วงโลโซทั้งสามคนคือ เสก รัฐ และใหญ่ ต้องแยกย้ายกันไปก่อน โดยเสกและใหญ่ได้ไปเล่นดนตรีตามผับในกรุงเทพ (ต่อมาใหญ่ได้ไปเป็นนักดนตรีแบ็คอัพให้กับ ปิยะวัฒน์ เปี่ยมเบี้ย) ส่วนรัฐได้ไปเล่นดนตรีประจำที่ต่างจังหวัด แต่ก็แยกย้ายกันได้ไม่นานก็กลับมารวมตัวกันทำเพลงพร้อมกับบันทึกเสียงอัลบั้มเพลงเวอร์ชัน Demo และนำไปเสนอกับบริษัทค่ายเพลงต่าง ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้รับเลือกให้เป็นศิลปิน เพราะรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายของทั้งสามคน เนื่องด้วยศิลปินนักร้องที่โด่งดังในยุคนั้น จะต้องมีหน้าตาที่ดีหรือเป็นนักแสดงมาก่อน แต่โลโซไม่ได้ท้อถอย ยังเดินหน้าเล่นดนตรีต่อไป

ประสบความสำเร็จ

วันหนึ่ง ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง ต้องการจะทำวงดนตรีจึงได้ชักชวนวงโลโซมาเป็นวงแบ็คอัพ และได้ออกอัลบั้มเพลงชุด เด็กหลังห้อง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2539 ภายหลังจากนั้นแท่ง ศักดิ์สิทธิ์ ได้แนะนำเสกให้นำอัลบั้มเพลง Demo ไปเสนอกับค่ายมอร์ มิวสิก ของอัสนี โชติกุล ในเครือของแกรมมี่ ซึ่งเพิ่งเปิดมาใหม่ อัลบั้มเพลง Demo ดังกล่าวประสบความสำเร็จประกอบกับช่วงดนตรีที่เปลี่ยนไปสู่ยุคของดนตรีร็อคที่เน้นความสามารถมากกว่าหน้าตา ทำให้โลโซได้เป็นศิลปินในที่สุด งานบันทึกเสียงใช้เวลาประมาณ 20 วันในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่ห้องบันทึกเสียงบัตเตอร์ฟลายและได้ออกอัลบั้มชุดแรกของวงโลโซ ใช้ชื่อชุดว่า Lo Society ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2539 โดยมีพิเชษฐ์ เครือวัลย์เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับวง ซึ่งอัลบั้มนี้มีแนวเพลงที่มีความเป็นร็อคแบบกรันจ์ มีเพลงในอัลบั้มอย่างเพลง ฉันหรือเธอ (ที่เปลี่ยนไป), ไม่ต้องห่วงฉัน, เราและนาย, ไม่ตายหรอกเธอ, อยากบอกว่าเสียใจ, คุณเธอ อัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายและได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากแฟนเพลงชาวไทย ซึ่งในยุคสมัยนั้นกระแสของเพลงอัลเทอร์เนทีฟในไทยยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก วงโลโซถือเป็นวงร็อคที่สามารถต่อสู้กับศิลปินอัลเทอร์เนทีฟชื่อดังจากค่ายเพลงอื่น จนสามารถดึงกระแสความนิยมมายังค่ายมอร์ มิวสิค และแกรมมี่ได้ ถึงแม้ว่าวงจะมีเครื่องดนตรีเพียงแค่สามชิ้น แต่ซาวด์ดนตรีที่ออกมานั้นแน่นจับใจ เพลงทั้งหมดของวงแต่งคำร้องและทำนองเองโดยเสก และบันทึกเสียงเพลงในวงเอง ทำให้ชื่อของเสกสรรค์ ศุขพิมาย และวงโลโซเป็นที่จดจำของแฟนเพลงชาวไทย และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินร็อคระดับแนวหน้าของประเทศไทยในขณะนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 วงโลโซก็ได้มีผลงานอัลบั้มพิเศษในชื่อ LOSO Special ซึ่งเป็นอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง จักรยานสีแดง ที่ได้ซูเปอร์สตาร์สุดฮอตในยุคนั้นอย่าง มอส ปฏิภาณ และ ทาทา ยัง เป็นคู่พระนางในเรื่อง มีเพลงอย่าง จักรยานสีแดง ซึ่งเป็นเพลงสุดฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองเลยทีเดียว ในอัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้ง ๆ ที่อัลบั้มนี้มีเพลงเพียง 5 เพลงเท่านั้น

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2541 วงโลโซก็ได้ออกอัลบั้มเพลงชุดที่ 2 ในชื่อ Loso Entertainment อัลบั้มชุดนี้ได้นำพาวงโลโซทะยานมาถึงจุดประสบความสำเร็จสูงสุดวงร็อคเบอร์หนึ่งของประเทศไทย การันตีจากยอดขายอัลบั้มที่สูงเกิน 2 ล้านชุด[1] เป็นยอดขายที่สูงที่สุดของศิลปินร็อคในแกรมมี่ เพลงในอัลบั้มนี้มีความเป็นร็อคแอนด์โรลมากขึ้นกว่าอัลบั้มชุดที่แล้วที่เป็นเพลงแนวกรันจ์ร็อค มีเพลงเปิดอัลบั้มอย่างเพลง อยากเห็นหน้าคุณ เพลงมันส์สนุกพูดถึงคนที่มีอาการตกหลุมรักอย่างสุด ๆ แล้วอยากจะเห็นหน้าคนที่รักนั้นทั้งวันทั้งคืน มีเพลงช้าอย่างเพลง อะไรก็ยอม ซึ่งเป็นเพลงช้าที่บาดใจทั้งคำร้องและทำนองซึ่งเสกแต่งขึ้น ทำให้กวาดความนิยมของแฟนเพลงชาวไทยทั้งประเทศ และเป็นเพลงที่ขึ้นชาร์ตอันดับที่หนึ่งในหลายคลื่นวิทยุทั่วประเทศเป็นเวลานาน แล้วมีเพลง ซมซาน เพลงร็อคกวน ๆ ที่สร้างกระแสไปทั่วประเทศ ได้รับความนิยมไปทั่วทุกกลุ่มผู้ฟัง ทำให้เพลงนี้ถือเป็นเพลงร็อคระดับตำนานของประเทศที่ไม่มีใครไม่รู้จัก นอกจากนี้ยังมีเพลง เลิกแล้วต่อกัน, แม่

ยุคหลัง

ในปี พ.ศ. 2542 รัฐได้ออกจากวงโลโซไปเนื่องจากเหตุผลส่วนตัว ทำให้วงโลโซต้องหยุดการทัวร์คอนเสิร์ตและพักวงไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะมาทำอัลบั้มชุดที่ 3 ของวงต่อ ชื่อชุดว่า Rock & Roll โดยที่มีนักดนตรีในห้องบันทึกเสียงเพียงแค่ 2 คนคือ เสกและใหญ่ เพลงในอัลบั้มได้ดึงเอาความเป็นอเมริกันร็อกเข้ามาเพิ่มสีสันทางอารมณ์ดนตรีเข้าไป แต่ยังคงความเป็นร็อกไทยแบบโลโซเหมือนเดิม อัลบั้มนี้ได้ชักชวน ณัฐพล สุนทรานู (กลาง) เพื่อนนักดนตรีด้วยกันและอดีตมือเบสสมาชิกวงเฌอ เข้ามาร่วมงานกับวงโลโซในฐานะนักดนตรีแบ็คอัพชั่วคราว และร่วมทัวร์คอนเสิร์ตกับวงแทนรัฐไปก่อน มีเพลงเปิดอัลบั้มอย่างเพลง ร็อคแอนด์โรล เพลงที่บ่งบอกความเป็นร็อคแอนด์โรลของวง มีเพลงช้าอย่าง ใจสั่งมา ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงและได้เสียงตอบรับมากที่สุดเพลงหนึ่งของวงโลโซ และยังมีเพลง ท้าวสุรนารี เพลงที่กล่าวถึงวีรกรรมอันแสนกล้าหาญของท้าวสุรนารี วีรสตรีแห่งเมืองโคราช นอกจากนี้มีเพลงที่เป็นที่รู้จักอย่างเพลง สาหัส, คืนจันทร์, เพื่อนใจ อัลบั้มชุดนี้ยังคงประสบความสำเร็จด้วยยอดขายเกินหนึ่งล้านชุด เหมือนอัลบั้มชุดก่อนหน้า ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกในวงก็ตาม และทำให้โลโซมีงานทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศมากขึ้น

ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 วงโลโซได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 ชื่อว่า Losoland ซึ่งความหมายในอัลบั้มนี้สื่อถึงการยกระดับของวงโลโซจาก Lo Society ซึ่งหมายถึง สังคมชั้นต่ำ ซึ่งสังคมชั้นต่ำนี้ได้ยกระดับตัวเองเป็นเมืองชั้นต่ำที่ยิ่งใหญ่ขี้นและมีความเป็นร็อคแอนด์โรลมากขึ้น มีเพลงเปิดอัลบั้มอย่างเพลง เข้ามาเลย ซึ่งเป็นเพลงที่บ่งบอกความเป็นวงโลโซ และยังมีเพลงดังอย่างเพลง มอไซต์รับจ้าง เพลงจังหวะโจ๊ะ ๆ สนุกแบบจิ๊กโก๋ พูดถึงอาชีพที่ติดดินอย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นเพลงที่สร้างชื่อให้กับวงเพลงหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเพลง คนบ้า, รอยยิ้มนักสู้, หมาเห่าเครื่องบิน และเพลง อย่าเห็นแก่ตัว เพลงในท้ายอัลบั้มที่มีเนื้อหาเพลงเสียดสีสังคม ถือเป็นเพลงที่มีความยาวมากที่สุดถึง 12:01 นาที เป็นต้น อัลบั้มชุดนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายซึ่งขายได้เพียง 7 แสนชุดเท่านั้น เนื่องจากพิษภัยของเทปผีซีดีเถื่อนที่ระบาดไปทั่วประเทศ ซึ่งศิลปินในยุคนั้นต้องประสบปัญหานี้รวมไปถึงวงโลโซด้วย แต่โลโซก็ยังคงประสบความสำเร็จทางด้านฐานแฟนเพลงที่ยังแน่นอยู่

และวงโลโซได้ออกอัลบั้มชุดที่ 5 ในอีก 6 เดือนต่อมาชื่อชุดว่า ปกแดง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 ตามคำแนะนำของไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งชื่อและปกของอัลบั้มชุดนี้เป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์สื่อถึงการต่อต้านเทปผีซีดีเถื่อนในเมืองไทย และอัลบั้มปกแดงนี้ถือเป็นการแก้ตัวจากอัลบั้มชุดที่แล้ว มีเพลงเปิดอัลบั้มอย่างเพลง พันธ์ทิพย์ เพลงที่เสกแต่งขึ้นเพื่อประชดประชัน และเสียดสีห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่างพันธุ์ทิพย์ ซึ่งเป็นห้างที่มีการจำหน่ายเทปผีซีดีเถื่อนในเมืองไทยในเวลานั้น นอกจากนี้ยังมีเพลงดังอย่างเพลง 5 นาที, ฝนตกที่หน้าต่าง, เคยรักฉันบ้างไหม อัลบั้มชุดปกแดงได้เพิ่มความแปลกใหม่ให้งานตัวเองด้วยการนำเอาเครื่องสี เครื่องเป่าเปียโนมาใช้ในเพลงกับการใช้เอฟเฟคกีตาร์ที่มากขึ้น รวมถึงวิธีการร้องที่ใส่ลูกเล่นมากขึ้นและวิธีการมิกซ์ที่แตกต่างไปจากงานชุดก่อน ๆ อัลบั้มปกแดงถือเป็นอัลบั้มชุดแรกในประเทศไทยที่ลดราคาซีดีเหลือเพียง 155 บาท (ต่างจากอัลบั้มอื่นทั่วไปที่ขายอยู่ในราคา 290 บาท) ซึ่งอัลบั้มชุดนี้โลโซได้กลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งด้วยยอดขายกว่า 9 แสนกว่าชุด / ก็อบปี้[2] และอัลบั้มชุดนี้รัฐได้กลับมาเป็นสมาชิกวงโลโซอีกครั้ง หลังหายหน้าจากวงไปเกือบ 3 ปี แทนกลางซึ่งออกจากวงไปแล้ว และอีก 3 เดือนต่อมาโลโซได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ของวงชื่อว่า โลโซเพื่อเพื่อน เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ณ เวลโลโดรม สนามกีฬาหัวหมาก ซึ่งเป็นการแสดงคอนเสิร์ตครั้งเดียว และรอบเดียวของวงโลโซ มีแฟนเพลงโลโซและขาร็อคมากมายจากทั่วประเทศมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

แยกย้ายและปัจจุบัน

หลังจากคอนเสิร์ตใหญ่ผ่านพ้นไป โลโซได้ทัวร์คอนเสิร์ตต่อจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 โลโซก็ได้หยุดทัวร์คอนเสิร์ต และในปี พ.ศ. 2546 เสกได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ได้ยุบวงโลโซ และสมาชิกในวงก็แยกย้ายกันไปแล้ว เนื่องจากถึงจุดอิ่มตัวของวงและขอพักวงการเพื่อไปเรียนต่อยังประเทศอังกฤษเพื่อเรียนภาษาและดนตรีเพื่มเติม พร้อมกับฝากผลงานอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขา ชื่อชุดว่า 7 สิงหา หลังจากเสกเรียนจบ เขาก็กลับเข้าสู่วงการดนตรีต่อโดยเขาได้ร่วมทำเพลงและออกอัลบั้มพิเศษคู่กับเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย นักร้องซุปเปอร์สตาร์ของเมืองไทย ชื่อชุดว่า เบิร์ด - เสก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 20 ปี ของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จมากมียอดจำหน่ายสูงสุดแห่งปีคือ 2 ล้านชุด หลังจากนั้นเสกก็ออกอัลบั้มเป็นของตนเองต่อไปในฐานะศิลปินเดี่ยว รับทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ และเขายังเป็นที่รู้จักและยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ

  • อภิรัฐ สุขจิตร์ (รัฐ) ได้ไปร่วมเป็นสมาชิกของฟาเรนไฮธ์และออกจากวงไปในช่วงอัลบั้ม "เอ็กตร้า ฟาเรนไฮธ์" ต่อมาได้กลับมาเล่นร่วมกับเสกอีกครั้ง รับหน้าที่เป็นมือเบสแบ็คอัพให้ในอัลบั้ม "แบล็กแอนด์ไวต์" หลังจากนั้นรัฐได้ยุติการเล่นดนตรีเนื่องจากต้องไปรักษาตัวจากโรคไตและทำธุรกิจส่วนตัว แต่ก็ยังมาร่วมเล่นดนตรีกับเสกในโอกาสอื่น เช่น เป็นนักดนตรีรับเชิญในคอนเสิร์ต 40 ปีเสกโลโซ 40 แต่รู้สึกเหมือน 14 เมื่อปี 2557
  • กิตติศักดิ์ โคตรคำ (ใหญ่) ไปร่วมเป็นสมาชิกของวงฟาเรนไฮธ์เช่นเดียวกับรัฐ และรับงานแบ็คอัพมือกลองให้กับ อัสนี-วสันต์ ในปี พ.ศ. 2556 ใหญ่ได้ก่อตั้งวงใหม่ขึ้นในชื่อ "เดอะจิ๊กโก๋" ร่วมกับอาคม นุชนิล (เอก) อดีตมือเบสวงฟาเรนไฮธ์และวงแท๊กซี่ โดยเอกเป็นคนร้องนำกับเบส และใหญ่เป็นมือกลอง ปัจจุบันใหญ่ยังอยู่ในวงการดนตรี ร่วมเล่นดนตรีกับวงฟาเรนไฮต์และเป็นนักดนตรีแบ็คอัพของ อัสนี-วสันต์ โดยหลังจากที่ใหญ่ออกจากวงโลโซไปก็ไม่เคยหันกลับมาร่วมงานกับเสกเป็นเวลาถึง 17 ปี จนกระทั่งในช่วงเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2562 ใหญ่ได้กลับมาติดต่อกับเสกอีกครั้งหลังจากรักษาอาการไบโพล่าร์[3]
  • ณัฐพล สุนทรานู (กลาง) หลังจากออกจากวงตั้งแต่อัลบั้มโลโซแลนด์ไป 4 ปีกลางได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของวง "พลพรรครักเอย" โดยมี "ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง" เป็นนักร้องนำ โดยทำหน้าที่เล่นเบส แล้วหลังจากนั้นก็หันหลังให้กับวงการดนตรีไป

ถึงแม้สมาชิกในวงโลโซจะแยกย้ายกันไปแล้ว แต่ชื่อเสียงและผลงานทั้งหมดของวงยังคงเป็นที่จดจำของแฟนเพลง และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน