ประวัติ ของ โอฟิโอไลต์

คำว่า "โอฟิโอไลต์" ใช้ครั้งแรกโดย Alexandre Brongniart เพื่อบ่งบอกถึงกลุ่มหินสีเขียว เช่น หินเซอร์เพนทิไนต์ หินไดอะเบส ในเทือกเขาแอลป์ ต่อมา Steinmann ได้ใช้รวมถึงหินละลายรูปหมอน และ หินเชิร์ต ในช่วงปลายปี 1950 ถึงต้นปี 1960 การสำรวจความผิดปกติแถบสนามแม่เหล็ก (magnetic anomaly stripes) ของพื้นทะเล ซึ่งวางตัวขนานกับเทือกเขากลางสมุทร โดย Frederick Vine และ Drummond Matthews ได้บ่งบอกถึงหมวดหินใหม่ของเปลือกโลกภาคพื้นสมุทรบริเวณเทือกเขากลางสมุทร ประกอบกับการสำรวจแผ่นพนังหิน (sheeted dike) บริเวณ Troodos ophiolite ประเทศไซปรัส โดย Ian Graham Gass และคณะ พบว่าพนังหินดังกล่าวเกิดจากการเย็นตัวของแมกมา 100% โดยไม่มีหินที่แก่กว่าปรากฏในบริเวณดังกล่าว ต่อมา Moores และ Vine ได้สรุปว่าแผ่นพนังหิน บริเวณ Troodos ophiolite ประเทศไซปรัส เกิดจากกระบวนการขยายตัวของพื้นมหาสมุทร จากนั้น คำว่า "โอฟิโอไลต์" จึงเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในความหมายที่ว่า ชุดหินของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรที่ถูกกระบวนการธรณีแปรสัณฐานนำขึ้นมาปรากฏบนแผ่นดิน

จากการพบชุดหินโอฟิโอไลต์ตามแนวเทือกเขาหลายแห่ง เช่น เทือกเขาแอลป์ เทือกเขาหิมาลัย ทำให้โอฟิโอไลต์เป็นหัวใจสำคัญของการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาคในปัจจุบัน

ใกล้เคียง