ประวัติ ของ โอเซจิ

จากวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่มีมาแต่โบราณที่ว่า ในเทศกาลสำคัญจะต้องถวายอาหารแด่เทพเจ้าเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองไปกับเทพเจ้า ในยุคเฮอังได้มีการกำหนดวันที่จะถวายอาหารไว้อยู่หนึ่งวัน แล้วเทพเจ้าก็จะประทานพรโชคลาภให้อยู่ 5 เทศกาลนั่นคือ วันที่ 7 มกราคม เทศกาลจินจิตสึ (人日), วันที่ 3 มีนาคม เทศกาลโจชิ (上巳) หรือเทศกาลดอกท้อ (แต่มักเรียกกันว่า วันเด็กหญิง), วันที่ 5 พฤษภาคม เทศกาลทังโงะ (端午) หรือวันเด็กผู้ชาย, วันที่ 7 กรกฎาคม เทศกาลทานาบาตะ (七夕) และวันที่ 9 กันยายน เป็นวันโจโย (重陽) หรือเทศกาลดอกเบญจมาศ

จุดกำเนิดของ โอเซจิ นั้นมาจากการที่ทั้งครอบครัวมาถวายอาหารต่อเทพเจ้าพร้อมกัน เรียกสำรับอาหารนั้นว่า โอเซ็กกุ (お節供) อันเป็นที่มาของคำว่า โอเซจิ นอกจากนี้ ยังมีคำเรียกโอเซจิเป็นอย่างอื่นด้วย คือ เซ็กกุ (節供), เซจิเอะ (節会) และ เซ็ตสึนิจิ (節日)

ก่อนหน้ายุคเอโดะ โอเซจิไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาอย่างในปัจจุบัน เมื่อมีการเฉลิมฉลองกันในหมู่ชนชั้นซามูไรก็จะมีการจัดอาหารมงคลสำหรับการฉลองใส่จูบาโกะ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อาหารได้ถูกจัดลงไปในกล่องเช่นนี้ การที่กล่องมีหลายชั้นนั้นแสดงถึงการเฉลิมฉลองซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงจัดอาหารโอเซจิใส่กล่องไม้ทาแล็กเกอร์ซ้อนกันอยู่ โดยในแต่ละชั้นก็จะบรรจุอาหารที่แตกต่างกันไปอย่างมีระเบียบ

ในปัจจุบัน วัฒนธรรมการรับประทานโอเซจินี้ก็ยังคงอยู่ แต่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ส่วนมากทำโอเซจิไม่เป็น แต่ถึงกระนั้นชาวญี่ปุ่นก็ยังสืบทอดการรับประทานอาหารพิเศษในวันปีใหม่นี้อยู่ โดยการซื้อโอเซจิสำเร็จรูปจากร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า