ไซแอนโทโลจี

ไซแอนโทโลจี (อังกฤษ: Scientology) เป็นกลุ่มความเชื่อและการปฏิบัติที่คิดค้นโดยแอล. รอน ฮับบาร์ด นักเขียนชาวอเมริกัน ไซแอนโทโลจีได้รับการนิยามว่าเป็นลัทธิบูชา ธุรกิจหรือขบวนการศาสนาใหม่[11] เมื่อแรกเริ่มฮับบาร์ดได้พัฒนาชุดแนวคิดที่เรียกว่า ไดอะเนติกส์ (Dianetics) เพื่อการบำบัด ฮับบาร์ดได้กล่าวถึงไดอะเนติกส์ในหนังสือหลายเล่มและจัดตั้งมูลนิธิวิจัยไดอะเนติกส์ฮับบาร์ด (Hubbard Dianetic Research Foundation) ในปี ค.ศ. 1950 แต่มูลนิธิล้มละลายและฮับบาร์ดเสียสิทธิในหนังสือ ไดอะเนติกส์ ในปี ค.ศ. 1952 หลังจากนั้นฮับบาร์ดได้ปรับปรุงชุดแนวคิดนี้ใหม่ในรูปแบบศาสนา (อาจด้วยเหตุผลด้านรายได้)[12] และเปลี่ยนชื่อเป็นไซแอนโทโลจี โดยยังคงหลักการ คำศัพท์และการ "ออดิติง" (auditing) ของไดอะเนติกส์ไว้[7][13][14] ในปี ค.ศ. 1954 ฮับบาร์ดได้รับสิทธิในไดอะเนติกส์คืนและรวมสองชุดแนวคิดนี้ภายใต้ศาสนจักรไซแอนโทโลจี (Church of Scientology) ซึ่งยังคงเป็นองค์การส่งเสริมไซแอนโทโลจีที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีผู้ปฏิบัติแยกจากศาสนจักรไซแอนโทโลจีเรียกว่า เขตเสรี (Free Zone) ในปี ค.ศ. 2011 มีการประมาณศาสนิกชนไซแอนโทโลจีที่ 40,000 คนทั่วโลก[15][16] คำว่าไซแอนโทโลจีคิดค้นโดยฮับบาร์ดโดยมาจากการรรวมคำในภาษาละติน scientia ("ความรู้") และคำภาษากรีก λόγος (lógos แปลว่า วิชา)[17][18] โดยฮับบาร์ดกล่าวอ้างว่าไซแอนโทโลจีหมายถึง "การรู้ความรู้" หรือ "วิทยาศาสตร์ของความรู้"[19]คำสอนไซแอนโทโลจีกล่าวว่ามนุษย์มีตัวตนภายในที่เป็นอมตะเรียกว่า เธทัน (thetan) ซึ่งสถิตอยู่ในร่างกายและผ่านอดีตชาติมาหลายภพ ผู้นับถือเชื่อว่าความบาดเจ็บที่เธทันได้รับในช่วงชีวิตก่อเกิดเป็นเอนแกรม (engram) ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคประสาทและความเจ็บป่วยทางจิต ไซแอนโทโลจีกล่าวอ้างว่าการระลึกและพูดคุยถึงความเจ็บปวดในอดีตกับบุคคลที่เรียกว่า "ออดิเตอร์" ช่วยขจัดเอนแกรมได้ โดยมีการเก็บค่าบริการผู้เข้ารับการออดิติง เมื่อออดิเตอร์สามารถขจัดเอนแกรมได้แล้ว บุคคลนั้นจะได้สถานะ "บริสุทธิ์" (Clear) บุคคลสามารถร่วมกระบวนการ "โอเปอเรติงเธทัน" (Operating Thetan) ต่อไปโดยจะมีการเก็บค่าบริการเพิ่มเติม[20] นักวิชาการมีความเห็นต่อความเชื่อของไซแอนโทโลจีที่แตกต่างกัน บางส่วนถือว่ามีลักษณะเป็นศาสนา ขณะที่บางส่วนมองว่าเป็นเพียงอุบายเรียกเงินคัมภีร์โอเปอเรติงเธทันถูกเก็บเป็นความลับจากศาสนิกชนส่วนใหญ่ และเปิดเผยต่อเมื่อศาสนิกชนมอบเงินจำนวนมากแก่องค์การเพื่อประกอบสิ่งที่เรียกว่า "เดอะบริดจ์ทูโททัลฟรีดอม" (The Bridge to Total Freedom) ให้สำเร็จ[21] องค์การไซแอนโทโลจีพยายามอย่างยิ่งในการรักษาความลับของคัมภีร์เหล่านี้ แต่กลับมีเนื้อหาปรากฏตามเว็บไซต์บนอินเตอร์เน็ตอย่างวิกิลีกส์[22] คัมภีร์เหล่านี้บรรยายว่าเมื่อ 75 ล้านปีก่อน เธทันอยู่ในสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่ถูกปกครองโดยซีนู ผู้ปกครองสหพันธรัฐกาแลกติกของดาวเคราะห์ 76 ดวง[23] ต่อมาซีนูต้องการแก้ปัญหาประชากรล้นเกินจึงลักพาสิ่งมีชีวิตนอกโลกหลายพันล้านตนมากำจัดที่โลก (ในคัมภีร์เรียกว่า Teegeeack)[24][25][26] ด้วยระเบิดไฮโดรเจน[27] ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตนอกโลกเกือบทั้งหมดเสียชีวิต เธทันซึ่งเป็นจิตวิญญาณภายในได้หลุดลอยและรวมตัวกันเป็นบอดีเธทันซึ่งจดจำร่างเดิมไม่ได้ ทั้งนี้บอดีเธทันสามารถส่งผลเสียทางกายและจิตใจต่อมนุษย์[28] จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยการออดิติง[29] นักวิชาการมองว่ากรอบความคิดนี้มีความเป็นโมกขวิทยา[30] ขณะที่ผู้คนล้อเลียนเรื่องนี้ในเชิงขบขัน[31]เกิดการคัดค้านและโต้แย้งไซแอนโทโลจีไม่นานหลังก่อตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมผิดกฎหมายของกลุ่ม[32] คริสต์ทศวรรษที่ 1970 ผู้ติดตามของฮับบาร์ดเกี่ยวข้องกับโครงการแทรกซึมทางอาชญากรรมต่อรัฐบาลสหรัฐ ส่งผลให้ผู้บริหารองค์การหลายคนถูกศาลสหรัฐดำเนินคดีและตัดสินจำคุก[33][34][35][36] ตัวฮับบาร์ดเองถูกตัดสินข้อหากลฉ้อฉลในการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย (Trial in absentia) โดยศาลฝรั่งเศสและต้องโทษจำคุก 4 ปี[37] ปี ค.ศ. 1992 ศาลในแคนาดาตัดสินองค์การไซแอนโทโลจีในโทรอนโตว่ามีความผิดฐานจารกรรมหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานรัฐบาล รวมถึงการทำผิดหน้าที่ทรัสตี (breach of trust) ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์รัฐออนแทรีโอพิพากษายืนในปี ค.ศ. 1996[38][39] ต่อมาในปี ค.ศ. 2009 ศาสนจักรไซแอนโทโลจีถูกศาลฝรั่งเศสตัดสินข้อหาฉ้อฉล ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนในปี ค.ศ. 2013[40]สถานะของไซแอนโทโลจียังคงเป็นที่ถกเถียง การไต่สวนโดยรัฐบาล รัฐสภาระหว่างประเทศ นักวิชาการ ขุนนางกฎหมายและคำพิพากษาศาลสูงจำนวนมากลงความเห็นว่าศาสนจักรไซแอนโทโลจีเป็นทั้งลัทธิบูชาอันตรายและธุรกิจแสวงหากำไรที่มิชอบ[47] องค์การไซแอนโทโลจีมีสถานะเป็นสถาบันศาสนาที่ได้รับการยกเว้นภาษีในออสเตรเลีย[48] สเปน[49] และสหรัฐ[50] ขณะที่เยอรมนีจัดไซแอนโทโลจีเป็น "กลุ่มต่อต้านรัฐธรรมนูญ"[51][52] ด้านฝรั่งเศสจัดกลุ่มนี้เป็นลัทธิบูชาที่อันตราย[53][54] นอกจากนี้ไซแอนโทโลจีมักถูกโจมตีบ่อยครั้งจากการใช้วิธีต่าง ๆ ในการป้องกันสมาชิกออกจากองค์การ[55]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ไซแอนโทโลจี https://utorontopress.com/9780802043733/misunderst... https://web.archive.org/web/20201205093445/https:/... https://web.archive.org/web/20100705144731/http://... http://www.apologeticsindex.org/The%20Anderson%20R... https://www.routledge.com/Religion-and-Law-An-Intr... https://books.google.com/books?id=JRPz4_u7AxMC&pg=... https://doi.org/10.1177%2F0008429818769404 https://api.semanticscholar.org/CorpusID:149581057 https://www.ucpress.edu/book/9780520281172/new-age... https://www.lrb.co.uk/v34/n02/rachel-aviv/religion...