ลักษณะทั่วไป ของ ไญยนิยม

ลักษณะทั่วไปของกลุ่มความเชื่อนี้ ในบางกลุ่มสอนให้เกิดหรือเข้าถึงความรู้อย่างง่าย เพื่อให้เกิดความรอดของจิตวิญญาณ คริสเตียนสายไญยนิยมเป็นพวกที่ไม่เชื่อในเรื่องคำสอนของพระเยซูคริสต์แบบขนบที่ยึดถือในหมู่ชาวคริสเตียนสายก่อนสัมมาธรรม (proto orthodox) พวกเขาเชื่อการสำแดง ประสบการณ์ หรือความรู้พิเศษถึงพระเจ้า และเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงความจริงของพระเจ้าได้ และเอาความจริงเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ที่ควรแสวงหา อีกทั้งคริสเตียนยังเป็นผู้อารักขาความล้ำลึกของข่าวประเสริฐ ไญยนิยมยังเชื่อว่าโลกวัตถุเป็นสิ่งชัวร้ายที่สร้างโดย พระเจ้าของพันธสัญญาเดิมซึ่งไม่ใช่พระบิดาของพระเยซูคริสต์ พระเจ้าในพันธสัญญาเดิมเป็นพระเจ้าระดับต่ำ บางกลุ่มเชื่อว่าเป็นซาตาน บางกลุ่มเชื่อว่าเกิดจาก อดัม อาห์ริแมน (ซาตานในศาสนาโซโรเอสเตอร์) แต่พระเจ้าที่แท้และสูงสุดคือพระบิดาของพระเยซูคริสต์ ได้เข้ามาในโลกเพื่อไถ่คนสู่ความรอดพ้น โดยวิญญาณต้องได้รับการปลดปล่อยจากร่างกายผ่านทางการทรงไถ่ของพระเยซูคริสต์

ความเชื่อแบบไญยนิยมนี้แพร่หลายในคริสตจักรยุคแรก ควบคู่ไปกับความคิดแบบก่อนสัมมาธรรมนับแต่ปลายศตวรรษที่ 1 ซึ่งในช่วงหนึ่งร้อยห้าสิบปีแรกของคริสตจักรนั้น ไม่มีความคิดสายใดได้รับการยอมรับเป็นสายหลักของคริสตจักร หนึ่งในผู้นำคนสำคัญของคริสเตียนสายไญยนิยมนี้ คือวาเลนตินัสซึ่งเกิดที่อเล็กซานเดรียประมาณ ปี ค.ศ. 100 เชื่อกันว่าวาเลนตินัสเป็นสาวกทางความคิดของ ธุดาส (Theudas) และนักบุญเปาโล เขาเป็นนักวิชาการและผู้นำคริสตจักรที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในคริสตจักรที่อเล็กซานเดรีย ต่อมาเขาได้ย้ายมาที่โรมและได้รับการยอมรับที่คริสตจักรโรมเช่นกัน ถึงกับได้รับการเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกเป็นบิชอปแห่งโรมในกลางศตวรรษที่ 2 แต่ไม่ได้รับเลือก เขาเดินทางไปสอนหนังสือที่ไซปรัสและเสียชีวิตที่นั่น ต่อมาเมื่อคริสตจักรสายก่อนสัมมาธรรมได้รับการยอมรับจากวงการคริสตจักรมากขึ้น และกลุ่มก่อนสัมมาธรรมนี้มองว่าวาเลตินัสว่าเป็นผู้สอนผิด ซึ่งนำไปสู่จุดเริ่มต้นของขนบประวัติศาสตร์คริสตจักรที่บันทึกว่า วาเลนตินัสเป็นผู้นำมิจฉาลัทธิที่สอนเรื่องไญยนิยมนับตั้งแต่ศตวรรษที่สอง ทั้งนี้ บิชอปไอเรเนียสเริ่มโจมตีลัทธิไญยนิยมว่าเป็นพวกนอกรีต นับแต่ปี ค.ศ.180 เป็นต้นมา ทำให้คริสเตียนสายไญยนิยมต้องอ่อนแอลงในที่สุดโดยค่อย ๆ สูญหาย และแตกสายไปผสานในศาสนาหรือความคิดอื่น ๆ

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ไญยนิยม กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง อดอฟ ฟอน ฮาร์นัค (Adolf von Harnack) กล่าวว่าความคิดเรื่องไญยนิยมเป็นพัฒนาการตั้งแต่เริ่มต้นภายในคริสตจักรเองซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรัชญากรีกและความคิดต่าง ๆ ขณะนั้น ฮาร์นัคระบุว่า คริสเตียนสายไญยนิยมเป็นขบวนการศึกษาความรู้ของปัญญาชนในศตวรรษที่หนึ่งและสอง ซึ่งแม้แต่ผู้นำคริสตจักรบางคน เช่น เคลเมนต์ แห่งอเล็กซานเดรีย ก็ยังคิดว่าตนเองเป็นปัญญาชนแบบไญยนิยม กล่าวคือ มีความรู้ที่จำเพาะและผ่านทางญาณที่คนทั่วไปไม่รู้ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการปัจจุบันมองว่า ความหมายของ γνωσις (ความรู้) นี้ไม่ได้หมายถึงความรู้ หรือญานพิเศษอะไรตามที่ผู้นำคริสตจักรยุคแรกมักใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีไญยนิยม หากแต่หมายถึงระดับความลึกซื้งของฝ่ายจิตวิญญาณ และการอธิบายคำตรัสของพระเยซูคริสต์ไปในด้านอุปมาเท่านั้นเอง เช่น ขณะที่ มธ. 7:7 บันทึกคำกล่าวของพระเยซูคริสต์อย่างง่าย ๆ ว่า “จงขอแล้วจะได้ จงหาแล้วจะพบ จึงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่ท่าน” นั้น กิตติคุณโธมัสข้อ 2 บันทึกละเอียดกว่านั้นว่า “ผู้ที่แสวงหา จะไม่หยุดการแสวงหาจนกว่าเขาจะได้พบ เมื่อเขาพบแล้ว เขาก็จะพบกับปัญหา เมื่อเขาพบกับปัญหา เขาจะพบกับความพิศวง แล้วเขาจะสามารถเอาปกครองทุกสิ่งได้” ซึ่งสะท้อนถึงความจริงของชีวิตคริสเตียนตลอดเวลา

แหล่งที่มา

WikiPedia: ไญยนิยม http://www.catholicgnostics.com http://www.earlychristianwritings.com/gnostics.htm... http://jewishencyclopedia.com/view.jsp?artid=280&l... http://www9.nationalgeographic.com/ngm/gospel/inde... http://www.sacred-texts.com/gno/index.htm http://www.theandros.com/pregnostic.html http://www.iep.utm.edu/g/gnostic.htm http://www.kheper.net/topics/Gnosticism/intro.htm http://www.gnosis.org/library.html http://www.gnosis.org/library/valentinus/Valentini...