ภาษาและวัฒนธรรม ของ ไทยเชื้อสายญวน

ปัจจุบันชาวญวนเก่าในประเทศไทยถูกกลืนจนสิ้นแล้ว ยังคงเหลือแต่ชาวญวนเก่าที่นับถือศาสนาคริสต์ในกรุงเทพฯ (สามเสน) และจันทบุรีเท่านั้นที่ยังรักษาภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมไว้ได้[5] ซึ่งต่างจากญวนเก่าที่เป็นพุทธที่เข้ากับคนไทยได้ดีเนื่องจากมีศาสนาเดียวกัน[5]

แม้ชาวญวนเก่าที่นับถือศาสนาคริสต์ในไทยจะไม่ติดต่อกับชาวญวนในเวียดนามเลยนานนับศตวรรษ แต่พวกเขาเหล่านั้นก็อยู่กันตามเชื้อชาติโดยแยกต่างหากจากคนไทย ทำให้พวกเขายังสามารถรักษาภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีไว้ได้ ทั้งนี้พวกเขามีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของเขา จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่กระตือรือร้นที่จะเป็นคนไทยหรือปรับตัวเข้ากับสังคมไทยอย่างรวดเร็ว[6] รวมไปถึงการตั้งถิ่นฐานแออัดกันรอบ ๆ โบสถ์ และการแต่งงานกับคนที่นับถือศาสนาและเชื้อชาติเดียวกัน[7]

ในปี พ.ศ. 2500 ชาวเวียดนามสูงอายุที่อาศัยอยู่ในสามเสน และจันทบุรียังคงการใช้ภาษาเวียดนามอยู่แต่เป็นสำเนียงเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นภาษาเวียดนามเก่าซึ่งในประเทศเวียดนามไม่ได้ใช้แล้วจึงทำให้ไม่สามารถติดต่อกับชาวเวียดนามได้ง่าย รวมไปถึงคำศัพท์และสำนวนหลายคำนั้นได้รับอิทธิพลมาจากภาษาไทย[8] พวกเขามีคำสวดที่ใช้ทุกวัน และหนังสือสอนศาสนาเป็นภาษาเวียดนามอักษรโกว๊กหงือ (Quốc Ngữ) ภาษาเวียดนามในไทยปัจจุบันนั้นมีคำไทยปะปนอยู่มาก ทั้งสำเนียงก็ยังเป็นแบบไทย[9] การสนทนาระหว่างคนญวนจากประเทศเวียดนามกับคนญวนในไทยจึงต้องอาศัยล่ามช่วยอธิบาย[9] ดังนั้นราวหนึ่งหรือสองช่วงคน หรืออีก 50 ปีเป็นอย่างมาก คนญวนในไทยจะถูกผสมกลมกลืนทางภาษาได้สำเร็จ[9]

กลุ่มที่สามารถใช้ภาษาเวียดนามได้นั้น ในปัจจุบันล้วนเป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้น ขณะที่เด็กรุ่นใหม่บางคนฟังได้พอเข้าใจแต่ไม่สามารถพูดได้[10] ขณะที่ผลการวิจัยของ Bui Quang Tung ได้กล่าวถึง คนที่ยังพูดภาษาเวียดนามได้เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีทั้งสิ้น ที่อายุน้อยกว่านี้พอเข้าใจแต่พูดไม่ได้ที่พูดได้บ้างก็ไม่ดีนัก ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายกลืนชาติของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ที่นำนโยบายชาตินิยมมาใช้ และมีผลกระทบต่อชาวญวนในไทย[9]

ใกล้เคียง

ไทยเชื้อสายจีน ไทยเชื้อสายโปรตุเกส ไทยเชื้อสายมลายู ไทยเชื้อสายเปอร์เซีย ไทยเชื้อสายอินเดีย ไทยเชื้อสายญวน ไทยเชื้อสายจาม ไทยเชื้อสายชวา ไทยเชื้อสายเขมร ไทยเบฟเวอเรจ