รูปแบบและกติกาของรายการ ของ ไมค์หมดหนี้

รูปแบบที่ 1 (15 สิงหาคม พ.ศ. 2559 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2563)

ทางรายการจะให้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 คน โดยไม่จำกัดเพศ, อายุ, การศึกษา และอาชีพ ที่ได้ทำการสมัครเพื่อร่วมรายการพร้อมส่งหลักฐานการเป็นหนี้ผ่านทางเฟซบุ๊ก[2] และผ่านการคัดเลือกแล้ว มาแจ้งจำนวนหนี้ที่มีอยู่ แล้วทำการแข่งขันประกวดร้องเพลงประเภทลูกทุ่งคนละ 1 เพลง โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้ตัดสิน ถ้าใครชนะจะได้เข้าสู่รอบ "ไมค์หมดหนี้" ซึ่งเป็นรอบแจ็คพอต โดยถ้าแจ็คพอตแตก ผู้เข้าแข่งขันคนนั้นจะได้รับการชำระหนี้ที่มีอยู่จากทางรายการ (ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ทางรายการจะใหผู้เข้าแข่งขันสมัครเข้าร่วมรายการ พร้อมกับบอกจำนวนทุนเพื่อนำไปสานฝันให้เป็นจริง)[3]

รอบแข่งขันประกวดร้องเพลง

ทางรายการจะให้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 คน มาแข่งขันประกวดร้องเพลงประเภทลูกทุ่งคนละ 1 เพลง โดยมีคณะกรรมการจำนวน 3 คน เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งถ้าผู้เข้าแข่งขันคนใดได้ผลการตัดสินจากคณะกรรมการจำนวน 2 คน ใน 3 คน หรือทั้ง 3 คน ผู้เข้าแข่งขันคนนั้นจะชนะทันที แล้วได้เข้าสู่รอบแจ็คพอต โดยผู้ท้าชิงที่แพ้ตกรอบ จะได้รับเงินรางวัล 5,000 บาทกลับบ้าน

รอบแจ็คพอต

ผู้เข้าแข่งขันที่ชนะจากรอบที่แล้วจะต้องเลือกไมโครโฟน เพียง 1 ตัว/หมายเลข จากหลาย ๆ ตัว/หมายเลข เท่านั้น โดยจะมีไมโครโฟนที่มีเสียงเพียงแค่ตัวเดียว (ซึ่งในรายการจะเรียกว่า "ไมค์หมดหนี้" (ภายหลังจากเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการมาเป็น "ฟ้าใหม่ ไมค์ตั้งตัว" ในรายการจะเรียกว่า "ไมโครโฟนที่ร้องแล้วมีเสียงดัง") จากจำนวนของไมโครโฟนตามจำนวนหนี้ (หรือจำนวนทุนที่ต้องการ) ของผู้เข้าแข่งขันคน ๆ นั้น ที่ได้แจ้งเอาไว้แล้วก่อนการประกวด (ไมโครโฟนจำนวน 1 ตัว = จำนวนหนี้ 10,000 บาท โดยจะปัดเศษที่เกิน 10,000 บาทขึ้นเสมอ, (สถิติสูงสุด ณ ปัจจุบัน คือ 30 ตัว คิดเป็นจำนวนหนี้ 300,000 บาท) แล้วจะต้องร้องเพลงโดยใช้ไมโครโฟนที่ได้เลือกเอาไว้ ถ้าไมโครโฟนมีเสียง (ใช้งานได้, เมื่อร้องเพลงไปได้สักพักจะปรากฏคำว่า "หมดหนี้" ขึ้นที่จอ) แจ็คพอตแตกทันที โดยผู้เข้าแข่งขันคนนั้นจะได้รับการชำระหนี้ของตนทั้งหมดจากทางรายการ แต่ถ้าไมโครโฟนไม่มีเสียง (ใช้งานไม่ได้, เมื่อร้องเพลงไปได้สักพักจะมีเครื่องหมาย X ขึ้นที่จอพร้อมกับเสียงสัญญาณออดดังในสตูดิโอ) ผู้เข้าแข่งขันคน ๆ นั้นจะได้รับการชำระหนี้เพียง 10,000 บาท เป็นทุนสะสม (ซึ่งจะหักจากยอดหนี้ปัจจุบันของผู้เข้าแข่งขันทันที ทำให้ในการเข้ารอบแจ็คพอตครั้งต่อไป จำนวนไมโครโฟนจะลดลง 1 ตัว ซึ่งจะทำให้สามารถทำแจ็คพอตแตกได้ง่ายขึ้นในครั้งต่อๆไป) และจะต้องทำการแข่งขันในครั้งต่อไป จนกว่าผู้เข้าแข่งขันคนนั้นจะแพ้ตกรอบ, ทำแจ็คพอตแตก, หรือได้รับทุนสะสมจากรอบแจ็คพอตได้ครบตามจำนวนหนี้ของตน (ในกรณีที่แจ็คพอตไม่แตกเลย) โดยหลังจากรู้ผลในรอบแจ็คพอตนั้นแล้ว ผู้ดำเนินรายการจะเฉลยหมายเลขประจำตัวของไมโครโฟนที่ใช้งานได้

ตั้งแต่เทปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป ผู้เข้าแข่งขันที่หมดหนี้ ไม่ว่าจะหาไมค์หมดหนี้เจอ (แจ๊คพอตแตก) หรือได้รับทุนสะสมจนหมดหนี้ จะได้รับทุนตั้งตัวจากผู้สนับสนุนรายการมูลค่า 50,000 บาทด้วย (สนับสนุนโดย M-150) (รางวัลพิเศษนี้ได้ถูกยกเลิกไปในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563)

ตั้งแต่เทปวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป จะมีปุ่ม "ดับเบิ้ลไมค์" อยู่ที่ตรงกลางหน้าโต๊ะกรรมการ ซึ่งถ้าในการแข่งขันครั้งนั้น ผู้เข้าแข่งขันที่ชนะร้องเพลงถูกใจคณะกรรมการ กรรมการทั้ง 3 ท่านสามารถกดปุ่มดับเบิ้ลไมค์เพื่อเพื่มโอกาสในการเลือกไมค์ในรอบไมค์หมดหนี้เป็น 2 ตัว/หมายเลขในสมัยนั้นได้ โดยคณะกรรมการมีเวลา 15 วินาทีในการกดปุ่มดับเบิ้ลไมค์ในแต่ละครั้งที่ผู้เข้าแข่งขันชนะ เมื่อผู้เข้าแข่งขันได้สิทธิพิเศษนี้ หากหาไมค์หมดหนี้เจอภายใน 2 ตัว ก็จะชำระหนี้ทั้งหมดและรับโบนัสอีก 50,000 บาท แต่ถ้าไม่เจอทั้ง 2 ตัว ก็จะได้รับเงินสะสม 20,000 บาท ซึ่งจะทำให้จำนวนไมโครโฟนลดลงไป 2 ตัวในรอบแจ็คพอตครั้งต่อไป (หากแชมป์ยังเอาชนะได้)

รูปแบบที่ 2 (9 มีนาคม พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน)

ภายหลังจากปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการมาเป็น ไมค์หมดหนี้ นักร้องนำโชค ทางรายการได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 คนที่มีความฝัน อยากจะนำทุนไปสานฝันให้เป็นจริงมาแข่งขันร้องเพลงลูกทุ่ง ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ารอบแจ็คพอต จะมีสิทธิ์เข้าไปร้องเพลง Featuring กับนักร้องประจำวัน เพื่อสะสมดาวและนำดาวที่ได้ทั้งหมดมาเปิดแผ่นป้ายเพื่อสะสมเงินรางวัล

รอบแข่งขันร้องเพลง

รูปแบบกติกา เหมือนกับในไมค์หมดหนี้ ไมค์หมดหนี้ตั้งตัว และฟ้าใหม่ ไมค์ตั้งตัวทุกประการ

รอบแจ็คพอต

ผู้เข้าแข่งขันที่ชนะฝ่ายตรงข้าม จะได้เป็นแชมป์ครั้งละ 1 สมัย และมีสิทธิ์เข้าไปร้องเพลง Featuring ร่วมกับ "นักร้องนำโชค" ประจำวัน (โดยเรียกรอบนี้ว่า "เพลงนำโชค") โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำการแสดงโชว์ร้องเพลง 1 เพลง คู่กับนักร้องนำโชคในแต่ละวัน โดยจะมีคะแนนทั้งหมด 100 คะแนน หากโชว์นี้ทำให้ผู้ชมและคณะกรรมการถูกใจ สามารถกดปุ่มให้คะแนนได้ โดยทุกๆ 20 คะแนน จะได้รับดาว 1 ดวง เมื่อจบการแสดงแล้ว จำนวนดาวที่สะสมมาได้ก็จะได้นำไปใช้เปิดแผ่นป้ายในรอบ ต้นสอยดาว อีกด้วย (สูงสุด 5 ดาว 5 แผ่นป้าย)

หลังจากจบการแสดงแล้ว ผู้เข้าแข่งขันจะต้องไปเปิดแผ่นป้ายตามจำนวนดาวที่สะสมมาในรอบ "เพลงนำโชค" ที่ผ่านมา โดยทางรายการจะมีแผ่นป้ายรูปดาวจำนวน 6 แผ่นป้ายซึ่งมีหมายเลข 1-6 กำกับไว้ ซึ่งด้านหลังแผ่นป้ายจะมีเงินรางวัลซ่อนอยู่ตั้งแต่ 1,000 ไปจนถึง 10,000 บาท (10,000 บาท 1 แผ่นป้าย, 1,000 บาท 1 แผ่นป้าย และ 2,000 บาท 4 แผ่นป้าย โดยทุกๆ 10 สมัย ป้าย 10,000 บาท จะเปลี่ยนเป็นป้าย 20,000 บาทในสมัยนั้นๆ) เปิดเจอเงินรางวัลเท่าไหร่ รับเงินรางวัลสะสมเพิ่มทันทีจากผู้สนับสนุนเงินรางวัล (ผู้สนับสนุนในการชิงโชคคือ เครื่องดื่มชูกำลัง M-150) โดยเงินรางวัลที่สะสมได้ในแต่ละวันจะถูกนำไปรวมกับเงินรางวัลสะสมที่มีอยู่เดิม สะสมเงินรางวัลเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าแชมป์จะพ่ายแพ้และตกรอบไป

ผู้ที่ครองสถิติเป็นแชมป์ยาวนานที่สุดในรูปแบบรายการนี้ คือ ปลาย ธเนศ ครองแชมป์สูงสุดถึง 46 สมัย สะสมเงินรางวัลสูงสุด 777,000 บาท ถูกโค่นแชมป์โดย อังกอร์ ทิพวรรณ (10 มีนาคม - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563)

ตั้งแต่เทปวันที่ 4 กันยายน 2563 เป็นต้นไป ได้ปรับเปลี่ยนกติการอบแจ็คพอตใหม่ โดยผู้เข้าแข่งขันที่ชนะจะได้เข้าไปสู่รอบ "เพลงนำโชค" ซึ่งจะต้องทำการแสดงโชว์ร้องเพลง 1 เพลง คู่กับนักร้องนำโชคในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ชมและคณะกรรมการกดปุ่มเพื่อให้ดาวแก่ผู้เข้าแข่งขัน โดยในกติกาใหม่นี้ ทั้งผู้ชมและคณะกรรมการ สามารถกดปุ่มให้ดาวผู้เข้าแข่งขันได้อย่างไม่จำกัดจำนวน จนเมื่อจบโชว์ จำนวนดาวที่ผู้เข้าแข่งขันได้มาทั้งหมด จะนำไปลุ้นรางวัลในรอบ ดาวนำโชค ซึ่งในรอบนี้ทางรายการจะมีแผ่นป้ายรูปดาวจำนวน 6 แผ่นป้ายซึ่งมีหมายเลข 1-6 กำกับไว้ ซึ่งด้านหลังของแต่ละแผ่นป้ายจะมีตัวคูณเงินรางวัลซ่อนอยู่ตั้งแต่ x10, x20, x30, x40, x50 และ x100 ผู้เข้าแข่งขันมีสิทธิ์เลือกได้เพียง 1 แผ่นป้ายเท่านั้น เปิดเจอตัวคูณเท่าไหร่ จะนำไปคูณกับจำนวนดาวที่สะสมได้ในรอบ "เพลงนำโชค" กลายเป็นเงินรางวัลสะสมของวันนั้นทันที (ผู้สนับสนุนในการชิงโชคคือ เครื่องดื่มชูกำลัง M-150)