การเขียนไม้ยมก ของ ไม้ยมก

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทั้งฉบับ พ.ศ. 2525 และฉบับ พ.ศ. 2542 เขียนไม้ยมกโดยเว้นวรรคทั้งหน้าและหลังไม้ยมก เช่น "สิ่งที่เป็นเส้น ๆ หุ้มยวงขนุน" และ "ติด ๆ กัน" [1] [2]

หนังสือ หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 ระบุหลักเกณฑ์การเว้นวรรคไว้ว่า "ให้เว้นทั้งข้างหน้าและข้างหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ไม้ยมกหรือยมก เสมอภาคหรือเท่ากับ" หากแต่การเรียงพิมพ์ในเล่มกลับเว้นวรรคเฉพาะหลังไม้ยมก เช่น "หน่วยราชการต่างๆ เข้าร่วมประชุม" รวมทั้งชื่อหนังสือเอง ซึ่งชิดหน้า เว้นหลัง ("เครื่องหมายอื่นๆ") [3] อย่างไรก็ตาม ใน หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนฯ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าให้ "เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ไม้ยมก เสมอภาคหรือเท่ากับ..." และการเรียงพิมพ์ในเล่มสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ ตัวอย่างเช่น "วันหนึ่ง ๆ เขาทำอะไรบ้าง" [4]

ปัจจุบันเราพบว่าสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในอินเทอร์เน็ต พิมพ์ไม้ยมกในลักษณะต่าง ๆ กัน ดังนี้

  • ไม่เว้นวรรคเลย เช่น "ต่างๆกัน" ซึ่งผิดหลักเกณฑ์
  • เว้นวรรคทั้งหน้าและหลังไม้ยมก เช่น "ต่าง ๆ กัน" ซึ่งถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และ
  • เขียนไม้ยมกติดคำหน้า แต่เว้นวรรคด้านหลัง เช่น "ต่างๆ กัน" ซึ่งผิดหลักเกณฑ์

อนึ่ง ไม้ยมกไม่ใช่อักษร แต่มักจะจัดรวมไว้ในหมวดหมู่อักษรไทย เพื่อความสะดวกในการดูภาพรวมของอักษรและเครื่องหมายที่ใช้ในการเขียนหนังสือไทย

ใกล้เคียง