โรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ในประเทศไทย ของ ไอแมกซ์

ปัจจุบันสิทธิ์การบริหารงานโรงภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ในประเทศไทยเป็นของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป เดิมตั้งอยู่ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สาขารัชโยธิน โดยใช้ชื่อว่า กรุงไทย ไอแมกซ์ เธียเตอร์ (ทุนร่วมกับธนาคารกรุงไทย) และ พานาโซนิค ไอแมกซ์ เธียเตอร์ (ทุนร่วมกับ บริษัท พานาโซนิค (ประเทศไทย) จำกัด) ตามลำดับ แต่ปัจจุบันเครื่องฉายดังกล่าวได้ถูกย้ายมาอยู่ที่โครงการพารากอนซีเนโพลิส หรือพารากอนซีนีเพล็กซ์ในปัจจุบัน โดยพารากอนซีนีเพล็กซ์ มีโรงฉายภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ 1 โรงภาพยนตร์ โดยใช้ชื่อว่า กรุงศรี ไอแมกซ์ เธียเตอร์ (ทุนร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา) โดยมีความสูงของจอที่สูงเท่ากับตึก 8 ชั้น และระบบเสียง IMAX ขนาด 12,000 วัตต์ ฉายภาพยนตร์ระบบไอแม็กซ์ทั้งแบบฟิล์ม 70 มม. ไอแม็กซ์ DMR และ ระบบ 3 มิติ ในช่วงแรกที่เปิดทำการ

ต่อมาเมื่อไอแมกซ์พัฒนาระบบ ไอแมกซ์ ดิจิตอล 3 มิติ เสร็จแล้ว เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ได้เข้าเซ็นสัญญากับไอแมกซ์ คอร์ปเรชัน ในการที่จะเปิดโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์แห่งใหม่ถึง 5 โรงภาพยนตร์ในปีเดียว ซึ่งจะใช้เงินในการลงทุนสูงถึง 500 ล้านบาท โดยในขั้นต้นมีการระบุว่าโรงไอแมกซ์แห่งใหม่ในขณะนั้น จะตั้งอยู่ที่ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน และ เอสพลานาด งามวงศ์วาน-แคราย ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่สุดท้ายเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ได้เลือกที่จะปรับปรุงโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์เดิมที่สาขารัชโยธิน (ซึ่งในขณะนั้น ใช้ฉายภาพยนตร์ระบบดิจิตอล 2 มิติแบบธรรมดาอยู่) และได้เปลี่ยนโรงภาพยนตร์ที่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สาขาปิ่นเกล้า ให้มาฉายภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ ดิจิตอลแทน โดยใช้ชื่อว่ากรุงศรี ไอแมกซ์ ดิจิตอล เธียเตอร์ และต่อมาจึงมีการติดตั้งเครื่องฉายระบบไอแมกซ์ดิจิตอลที่ไอแมกซ์พารากอนซีนีเพล็กซ์เพื่อให้สามารถรองรับระบบไอแมกซ์ดิจิตอลได้เช่นกันโดยติดตั้งเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 รวมทั้งยังมีการเปลี่ยนจอภาพยนตร์และลำโพงรวมถึงระบบเสียงใหม่ที่มีความกระหึ่มเพิ่มขึ้นเป็น 32,000 วัตต์

ในปี พ.ศ. 2556 เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ได้เปิดตัวโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์เพิ่มเติมในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลสองแห่ง คือ เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์สาขาแรกนอกเขตกรุงเทพมหานคร และ เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ โดยเปิดร่วมกับโรงภาพยนตร์หาดใหญ่ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งจุดต่างของทั้งสองสาขาดังกล่าวคือไม่ได้ใช้ทุนร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทำให้โรงภาพยนตร์สาขาใหม่ทั้งสองแห่งใช้ชื่อแค่ว่า "ไอแมกซ์ เธียเตอร์" ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อโรงภาพยนตร์เป็น กรุงศรี ไอแมกซ์ ดิจิตอล เธียเตอร์ เนื่องจากมีการปรับทุนมาใช้ร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาตามสาขาในกรุงเทพมหานคร ซึ่งการใช้ทุนร่วมกันแบบนี้เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะทำให้แผนขยายสาขาใหม่ๆ ทำได้ไวขึ้น และทำให้การคืนทุนในแต่ละสาขาทำได้ดีมากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เข้าฉายที่โรงไอแมกซ์ตลอด ทำให้โรงไอแมกซ์สามารถคืนทุนได้ไวกว่าปกติที่ควรจะเป็น

ใน พ.ศ. 2558 เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ยังคงเดินหน้าเปิดโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์เพิ่มเติมสองแห่ง คือ โรงภาพยนตร์ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ และ โรงภาพยนตร์เวสต์เกต ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ซึ่งทั้งสองที่มีความแตกต่างกับโรงภาพยนตร์สาขาก่อนหน้าอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการแตกแบรนด์เพิ่มเติมของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์โดยชูโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์เป็นจุดหลัก ปรับจอฉายภาพยนตร์เป็นรูปแบบใหม่ที่สว่างกว่าสาขาอื่นถึง 10 เท่า ออกแบบโครงสร้างเพื่อรองรับการอัปเกรดเครื่องฉายเป็นเครื่องเลเซอร์ และที่พิเศษกว่าคือที่สาขาเอ็มควอเทียร์ ได้เปลี่ยนไปใช้เก้าอี้รูปแบบใหม่ซึ่งเป็นเก้าอี้แบบเดียวกับที่ใช้ในห้องประชุมใหญ่ของทำเนียบขาว และออกแบบช่องว่างภายในโรงภาพยนตร์ รวมถึงตกแต่งโรงภาพยนตร์ด้วยแนวคิดใหม่ทั้งหมด และเปลี่ยนผู้สนับสนุนโรงภาพยนตร์หลักจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ โตโยต้า ในประเทศไทยแทน และเรียกชื่อโรงภาพยนตร์ทั้งสองแห่งนี้ว่า "โตโยต้า ไอแมกซ์ เธียเตอร์"​ ซึ่งจุดประสงค์ของโตโยต้า คือต้องการเจาะตลาดกลุ่มผู้ชมชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ด้วย และในปีนี้ ยังเป็นปีที่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ได้ปิดโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์หนึ่งแห่ง คือสาขาปิ่นเกล้า โดยมีเหตุผลหลักคือเรื่องต้นทุนที่ไม่สามารถคืนทุนได้ตลอดระยะเวลาการเปิดให้บริการ ซึ่งปัจจุบันเครื่องฉายและลำโพง ได้ถูกย้ายมาติดตั้งที่สาขาเอ็มควอเทียร์แทน

ในปี พ.ศ. 2561 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จับมือร่วมกับเอไอเอสและไอแมกซ์เปิดให้บริการ เอไอเอส ไอแมกซ์ วีอาร์ (AIS IMAX VR) ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และที่เอไอเอส ดีไซน์ เซ็นเตอร์​ ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม โดย IMAX VR เป็นศูนย์ให้บริการทั้งการชมภาพยนตร์และการเล่นเกม ผ่านแว่นวีอาร์คุณภาพสูงอย่าง HTC Vive และ StarVR พร้อมทั้งมีอุปกรณ์คอนโทรลเลอร์ควบคุมให้ผู้ใช้ได้ใช้งาน ทั้งนี้ ไอแมกซ์ วีอาร์ที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ถือเป็นสาขาแรกและสาขาเดียวในประเทศไทย รวมถึงยังเป็นแห่งที่ 7 ของโลก และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดบริการ อย่างไรก็ตาม ไอแมกซ์ วีอาร์ ในประเทศไทย ถือเป็นเพียงนิทรรศการชั่วคราว มีแผนเปิดให้บริการถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแผนการขยายโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์จำนวนสองแห่ง ได้แก่โรงภาพยนตร์ไอคอน ซีเนคอนิค ศูนย์การค้าไอคอนสยาม[2] และโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ทำให้ใน พ.ศ. 2561 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มีโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์กว่า 7 โรงภาพยนตร์ครอบคลุมทั้ง กรุงเทพฯ นนทบุรี เชียงใหม่ และกรุงพนมเปญ

สาขาโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ โดยเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป

เรียงตามลำดับวันที่เปิดทำการ โดยไม่นับสาขารัชโยธินเป็นสาขาแรก

ชื่อสาขาโรงภาพยนตร์วันที่เริ่มเปิดทำการจังหวัดที่ตั้งความสูง (เมตร)ความกว้าง (เมตร)ความจุ (ที่นั่ง)ผู้สนับสนุน
พารากอน ซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน169 ธันวาคม พ.ศ. 2548กรุงเทพมหานคร19.927.3493ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน1511 กันยายน พ.ศ. 2553กรุงเทพมหานคร1724467ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่1014 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556เชียงใหม่1527424
ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต เอ็มควอเทียร์81 เมษายน พ.ศ. 2558กรุงเทพมหานคร13.7225.64376เรียลแอสเซท
เวสต์เกต ซีนีเพล็กซ์ เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต1229 สิงหาคม พ.ศ. 2558นนทบุรี13.7225.64402ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ บาย สมาร์ท อิออนมอลล์ แซนซก (แสนสุข)85 มิถุนายน พ.ศ. 2561กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเบียร์ แคมโบเดีย
ไอคอน ซีเนคอนิค ไอคอนสยาม145 ธันวาคม พ.ศ. 2561กรุงเทพมหานคร13.724.8364ธนาคารออมสิน

สาขาที่ปิดทำการ

ชื่อสาขาวันที่เริ่มเปิดทำการวันที่ปิดทำการสถานะปัจจุบัน
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า23 ธันวาคม พ.ศ. 25534 มีนาคม พ.ศ. 2558ปรับปรุงกลับเป็นโรงภาพยนตร์ระบบดิจิทัลทั่วไป และย้ายเครื่องฉายไปยังโรงภาพยนตร์ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต
ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ได้รับความเสียหายทั้งหมดจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559
หาดใหญ่ ซีนีเพล็กซ์ เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่14 ธันวาคม พ.ศ. 255622 เมษายน พ.ศ. 2561ปรับปรุงกลับเป็นโรงภาพยนตร์ระบบ Laser Projection System [3] และย้ายเครื่องฉายไปยัง Aeon Mall 2 Phnom Penh