การกระจายในเนื้อเยื่อ ของ CYP3A4

ตัวอ่อนมนุษย์ในระยะฟีตัสนั้นจะไม่มีแสดงออกของ CYP3A4 ในเนื้อเยื่อตับ[โปรดขยายความ] หากแต่จะมีการทำงานของCYP3A7 (EC 1.14.14.1) ขึ้นมาแทน ซึ่ง CYP3A7 นี้เป็นเอนไซม์ที่มีสารซับสเตรตเช่นเดียวกันกับ CYP3A4 แต่หลังจากมารกมีอายุประมาณ 5 เดือน จะมีการแสดงออกของ CYP3A4 ประมาณร้อยละ 40 และเพิ่มเป็นร้อยละ 72 เมื่อมีอายุ 12 เดือน[10][11]

ถึงแม้ว่า CYP3A4 จะเป็นเอนไซม์ที่พบได้ในเนื้อเยื่อตับเป็นหลัก แต่ก็สามารถพบเอนไซม์ดังกล่าวในอวัยวะหรือเนื้อเยื่ออื่นได้เช่นกัน โดยเอนไซม์ที่พบนอกเหนือจากบริเวณตับนี้ก็ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่ที่เกี่ยวเนื่องกับการเมแทบอไลซ์โมเลกุลอินทรีย์แปลกปลอมเพื่อขับออกจากร่างกายทั้งสิ้น เช่น CYP3A4 ที่พบในลำไส้จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงยาต่างๆที่ได้รับการบริหารยาโดยการรับประทาน บ่อยครั้งที่ CYP3A4 ที่พบในลำไส้นี้จะเปลี่ยนยาในรูปแบบที่เป็นโปรดรักให้อยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์และถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป ตัวอย่างยาที่ถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์โดยเอนไซม์ CYP3A4 ที่ลำไส้เล็ก ได้แก่ เทอร์เฟนาดีนยาต้านฮิสตามีนที่ตัวรับ H1

นอกจากนี้ ยังมีการจำแนกเอนไซม์ CYP3A4 ได้จากเนื้อเยื่อสมอง แต่บทบาทของเอนไซม์นี้ต่อระบบประสาทส่วนกลางนั้นยังไม่อาจทราบได้แน่ชัด[12]