พยาธิสรีรภาพ ของ Cotard_delusion

สภาพทางจิตและทางประสาทที่เป็นฐานของอาการนี้อาจจะสัมพันธ์กับอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ delusional misidentification (การระบุผิดด้วยความหลงผิด) ซึ่งเป็นความเชื่อว่าบุคคล สิ่งของหรือว่าสถานที่มีการเปลี่ยนตัวหรือแปรสภาพไป โดยสภาพทางประสาท อาการนี้เชื่อกันว่าสัมพันธ์กับอาการหลงผิดคะกราส์ และอาการหลงผิดทั้งสองเชื่อกันว่าเป็นผลจากการขาดการเชื่อมต่อกันระหว่างเขตในสมองที่รู้จำใบหน้า (fusiform face area[8]) กับเขตที่เชื่อมอารมณ์ความรู้สึกกับความรู้จำนั้น (อะมิกดะลาและเขตลิมบิกอื่น ๆ)

การขาดการเชื่อมต่อทำให้เกิดความรู้สึกว่าใบหน้าที่ได้เห็นไม่ใช่เป็นของบุคคลที่เห็น ดังนั้นจึงไม่เกิดความรู้สึกคุ้นเคยที่ใบหน้านี้ควรจะทำให้เกิดและทำให้เกิดความรู้สึกแบบ derealization คือเหมือนกับสิ่งที่ประสบนั้นไม่ใช่เป็นจริง ถ้าใบหน้าที่เห็นเป็นใบหน้าที่คนไข้รู้จัก คนไข้ก็จะมีความรู้สึกว่าเป็นของตัวปลอม (ซึ่งเป็นอาการของอาการหลงผิดคะกราส์) แต่ถ้าคนไข้เห็นหน้าตนเองแล้วไม่เกิดความรู้สึกว่าใบหน้ากับตนเองนั้นสัมพันธ์กัน ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตนเองไม่มีอยู่จริง ๆ

สิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ แสดงว่า อาการนี้สัมพันธ์กับรอยโรคในสมองกลีบข้าง (parietal lobe) คนไข้อาการนี้จะมีการฝ่อในสมองมากกว่ากลุ่มควบคุมโดยเฉพาะในสมองกลีบหน้าด้านใน (median)[9]

อาการนี้พบโดยหลักในคนไข้โรคจิต เช่น โรคจิตเภท แต่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกับความเจ็บป่วยทางประสาทหรือทางจิตและมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับโรคซึมเศร้าและความรู้สึกแบบ derealization คือเหมือนกับสิ่งที่ประสบนั้นไม่ใช่เป็นจริง นอกจากนั้นแล้ว ยังเกิดขึ้นในคนไข้โรคไมเกรนอีกด้วย[8]

นอกจากนั้นแล้ว อาการหลงผิดนี้ยังเกิดจากผลข้างเคียงลบของยาต้านไวรัสอะไซโคลเวียร์ คืออาการมีความสัมพันธ์กับซีรั่มของเลือดที่มี CMMG ในระดับสูง (CMMG เป็น metabolite ของอะไซโคลเวียร์) คนไข้ที่มีไตเสียหายดูเหมือนจะมีความเสี่ยงแม้กับระดับยาที่ลดลงและในกรณีที่กล่าวถึงในสิ่งตีพิมพ์ การฟอกไตสามารถกำจัดอาการหลงผิดได้ภายใน 2-3 ชม.[10] ซึ่งบอกเป็นนัยว่า อาการหลงผิดเช่นนี้อาจจะไม่ใช่เหตุที่เพียงพอเพื่อที่จะให้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาทางจิตเวช

งานวิจัยพบว่า วัฒนธรรมมีผลต่อประสบการณ์หลงผิดของคนไข้อาการนี้ ซึ่งสนับสนุนความคิดว่า มีระบบประชานโดยเฉพาะที่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นอมตะ โดยที่ความคิดหลักในปัจจุบันเชื่อว่า ความรู้สึกว่าเป็นอมตะและอาการหลงผิดอื่น ๆ เป็นวิวัฒนาการในมนุษย์ที่ตอบสนองต่อความกดดันทางสังคม[11][โปรดขยายความ]