พระประวัติ ของ กรมขุนรามินทรสุดา

กรมขุนรามินทรสุดา เป็นพระธิดาเพียงองค์เดียวของสมเด็จพระเจ้าขุนรามณรงค์[2] ไม่ปรากฏนามพระมารดา[3] ประสูติก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา ตอนที่พระบิดายังมียศเป็นขุนรามณรงค์[1]

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก พระองค์ได้ถูกพม่ากวาดต้อนไปพร้อมเชลยอื่น ๆ ได้พำนักอยู่ที่เมืองทวายเป็นระยะเวลา 25 ปี[1] และผนวชเป็นรูปชีที่วัดแห่งหนึ่ง โดยมีเนมะกะยอดิน หรือ มังจันจ่า พระยาทวายเป็นผู้อุปถัมภ์และปกปิดพม่ามิให้รู้ และภายหลังพระยาทวายได้สวามิภักดิ์กับกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้กราบบังคมทูลมาว่ามีพระราชภาคิไนยพลัดมาอยู่ที่เมืองทวายพระองค์หนึ่ง[4] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชให้เจ้าพระยายมราช (นามเดิมว่าทองอิน เป็นเจ้าพระยายมราชท่านแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ปรากฏว่ามีบุตรหลานสืบสายลงมา) ขึ้นไปทวาย เจ้าพระยายมราช (ทองอิน) ได้จัดการส่งพระองค์เจ้าชีเสด็จโดยทางเรือจากเมืองทวาย มาถึงแม่น้ำน้อย เมืองกาญจนบุรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จออกไปรับพระองค์เจ้าชี ทั้งสองพระองค์ ความในพงศาวดาร กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

"เจ้าพระยายมราชก็ส่งพระองค์เจ้าชีมากับพระราชาพิมลแลข้าไทชาวกรุงตามเสด็จพระองค์เจ้าชีลงมาเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงไต่ถามทุกขศุขตั้งแต่ตกไปอยู่เมืองอังวะแล้ว หลบหลีกลงมาได้จนถึงเมืองทวาย พระองค์เจ้าชีเล่าถวายถึงความทุกขยากลำบาก แล้วก็ทรงพระกันแสง สมเดจพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็กลั้นน้ำพระเนตรมิได้ รับสั่งให้พระองค์เจ้าชีลงสรงอุทกวารีอยู่ที่หาดทรายทำไว้ในแม่น้ำน้อย แล้วสรงน้ำปริตรแล้วก็ให้เรียกเรือมารับพระองค์เจ้าชี แลข้าไทที่ตามมานั้นเปนเรือหลายลำด้วยกัน ก็ให้สนมกรมวังนำส่งพระองค์เจ้าชีเข้ามา ณ กรุงเทพฯ"

เจ้าครอกชีสิ้นพระชนม์เมื่อใดไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด บ้างก็ว่าสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บ้างก็ว่าสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[2] แต่ที่ถูกต้องน่าจะเป็นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะพ.ศ. 2361 ยังมีพระชนม์อยู่[5] สถานที่เก็บรักษาพระอัฐิของพระองค์อยู่ที่หอพระนาก พระโกศของพระองค์อยู่ในพระเบญจาชั้นที่ 1 เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระอัฐิเป็น กรมขุนรามินทรสุดา

ใกล้เคียง

กรมขุนวิมลพัตร กรมขุนสุนทรภูเบศร์ กรมขุนสุรินทรสงคราม กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ กรมขุนรามินทรสุดา กรมขุนยี่สารเสนีย์ กรมขุนเสนาบริรักษ์ กรมขุนเทพทวาราวดี กรมขุนเสนีนุรักษ์ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์