พระประวัติ ของ กรมพระเทพามาตย์_(นกเอี้ยง)

พระชนมชีพตอนต้นและครอบครัว

กรมพระเทพามาตย์ สันนิษฐานว่าเป็นธิดาของขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา[3] และคาดว่าหากจริงก็คงเป็นตระกูลใหญ่พอสมควร[4] พระองค์มีพระขนิษฐาที่ปรากฏนามพระองค์หนึ่งชื่อ อั๋น หรือ ฮั้น (ต่อมาได้รับการสถาปนาอิสริยยศเป็นกรมหลวงเทวินทรสุดาในสมัยกรุงธนบุรี)[5] เรื่องราวเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดนั้น พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ (ฝรั่งเศส: Jean Baptiste Pallegoix) ได้ระบุไว้ว่าพระองค์เป็นคนไทย แต่ฟร็องซัว ตุรแปง (ฝรั่งเศส: Francois Turpin) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสระบุว่าพระองค์เป็นคนจีน[2] ซึ่งสอดคล้องกับ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ได้ระบุว่านกเอี้ยงมีแซ่เดิมว่า โหงว (อักษรจีน: 吴) ซึ่งเป็นแซ่เดียวกันกับพระวิชัยวารี (หลิน แซ่โหงว) ขุนนางจีนในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[2] และยังให้ข้อมูลต่อว่านกเอี้ยงเป็นชาวบ้านแหลม แขวงเมืองเพชรบุรี และอาจเป็นเครือญาติกับพระยาเพชรบุรี (เรือง) ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่เป็นบิดาของพระยาสวรรคโลกต้นสกุลบุญ-หลง พลางกูร และกรีวัตร[4]

ส่วนข้อสันนิษฐานว่าพื้นเพเดิมของพระองค์ตั้งอยู่แถบบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ปรากฏในหนังสือปฐมวงศ์ที่ระบุไว้ว่า "มารดาพระยาตากสินที่หนีพม่าไปอยู่บ้านแหลมแขวงเมืองเพชรบุรี..."[6] และคงย้ายเข้ามาอาศัยในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาช้านาน ดังปรากฏในหนังสือปฐมวงศ์ ฉบับของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งระบุเรื่องราวของนกเอี้ยงและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเมื่อครั้งยังเป็น นายสุดจินดา (บุญมา) ไว้ว่า "...เป็นคนรู้จักคุ้นเคยกันมาช้านานแต่ยังอยู่ในกรุงมาด้วยกัน..."[6]

ทั้งนี้พระองค์เป็นญาติของพระเจ้าหลานเธอ เจ้ารามลักษณ์ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม (พระนามเดิมว่า บุญมี) ด้วยพึงสังเกตว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าให้เจ้ารามลักษณ์กำกับเมืองเพชรบุรี[7]

สมรส

ตามอภินิหารบรรพบุรุษ นกเอี้ยงสมรสกับชายจีนแต้จิ๋วชื่อหยง แซ่แต้ (อักษรจีน: 鄭鏞)[8] ที่มีถิ่นฐานเดิมในตำบลหัวฟู่ อำเภอเทงไฮ้ (เฉิงไห่)[9] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก มิใช่นายอากรบ่อนเบี้ย เป็นคำอธิบายที่ว่าเหตุใดนายสินจึงไม่ทรงประมูลอากรสืบต่ออาชีพจากบิดา จึงน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่า[10] ส่วน ตำนานอากรบ่อนเบี้ย พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ข้อมูลว่าตำแหน่งขุนพัฒน์เพิ่งมีขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[2] ภายหลังหยงและนกเอี้ยงได้ให้กำเนิดบุตรชายชื่อว่า สิน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277[8] และภายหลังได้ยกเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) ซึ่งต่อมานายสินได้เป็นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์และตั้งราชธานีที่ธนบุรี

การสถาปนาและการสวรรคต

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก ประชาชนทั้งหลายก็ต่างพากันหลบหนีพม่า ครั้งนั้นกรมพระเทพามาตย์เองได้หนีไปพำนักในแขวงเมืองเพชรบุรี ซึ่งนายสุดจินดา (บุญมา) ก็เป็นธุระจัดการนำพระองค์มาจากเพชรบุรี เพื่อมาส่งให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในค่ายที่ชลบุรี[11]

ภายหลังเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ได้ทรงสถาปนาพระราชชนนีขึ้นดำรงอิสริยยศเป็น กรมพระเทพามาตย์ ตามโบราณราชประเพณีใน พ.ศ. 2312[6][12] ต่อมาพระองค์ประชวรพระยอดอัคเนสันในปลายปีมะเมียฉอศก จุลศักราช 1136 ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังล้อมค่ายพม่าที่บ้านบางนางแก้ว ปรากฏความใน จดหมายรายวันทัพ ว่าวัน ๓ ๖ฯ ๔ ค่ำ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบข่าวการประชวรเป็นครั้งแรก ความว่า[13]

"อนึ่งเพลาย่ำค่ำแล้ว ๕ บาท ขุนวิเศษโอสถหมอ ถือพระอาการทรงพระประชวรสมเด็จพระพันปีหลวงมาถวาย ในพระตำหนักค่ายวัดเขาพระ ครั้นทอดพระเนตรพระอาการแล้วเร่งในขุนวิเศษโอสถกลับไป ถ้าเจ้าคุณเปนเหตุการสิ่งใด ให้เอาหมอจำไว้แล้วริบให้สิ้น แล้วตรัสว่าพระโรคหนักนัก จะมิได้ไปทันเห็นพระองค์ด้วยการแผ่นดินนี้ใหญ่หลวงนัก ครั้นจะไปบัดนี้ไม่เห็นผู้ใดที่จะไว้ใจอยู่ต้านต่อฆ่าศึกได้"

สมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตย์เสด็จสวรรคตในวัน ๓ ๖ฯ ๔ ค่ำ[13] ตรงกับวันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2317[6] หลังจากนั้นมีการสร้างพระโกศโถ หรือ ลองโถ สำหรับพระราชมารดาในปี พ.ศ. 2318 และสันนิษฐานว่าพระโกศดังกล่าวสร้างเพื่อพระศพเจ้านายที่ทรงศักดิ์ชั้นสูงสุดในสมัยนั้น[14] โดยให้เจ้าพระยาจักรี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เป็นแม่กองทำพระเมรุ ณ วัดบางยี่เรือใต้[15]

แต่ในงานพระเมรุดังกล่าวถูกเร่งให้จัดขึ้นในช่วงฤดูฝน ทราบเพียงว่ามีลักษณะเป็นเมรุมณฑปแต่สูงต่ำเท่าใดไม่ปรากฏความ[13] ด้วยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงห่วงใยในการศึกของพม่าอยู่ซึ่งมักเข้ามาในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ซึ่งตามธรรมเนียมเดิมนั้นงานพระเมรุจะถูกจัดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง[15] เจ้าพระยาจักรีจึงปรึกษากับเจ้านายทั้งปวงว่าจะใช้ดีบุกบางเคลือบทองน้ำตะโก แล้วทาด้วยแป้งเปียกติดเข้ากับเนื้อไม้จนสำเร็จในเดือนเก้า แต่ก่อนจึงถึงวันเชิญพระศพมาในพระเมรุนั้นฝนได้ตกชะทองน้ำตะโกที่ปิดประดับพระเมรุหลุดร่วงลงมาทั้งหมด เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทอดพระเนตรเห็นทองน้ำตะโกที่ติดประดับพระเมรุหลุดร่วงก็ทรงพิโรธ[15] มีพระราชดำรัสว่า

"เราไว้ใจให้เปนแม่กองทำพระเมรุ ต่างหูต่างตาเรา เจ้าไม่เอาใจใส่ในราชการ ทำมักง่ายให้เมรุเปนเช่นนี้ดีแล้วฤๅ ทำให้พระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินเสื่อมเสียไป จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานองครักษ ให้ลงพระราชอาญาโบยหลังเจ้าพระยาจักรี ๕๐ ที"[16]

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นหนึ่งในความขัดแย้งส่วนพระองค์ ระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับเจ้าพระยาจักรี[15]

เมื่อการก่อสร้างพระเมรุแล้วเสร็จจึงมีการชักพระบรมศพกรมพระเทพามาตย์ถึงเมรุวัน ๓ ๒ฯ ๖ ค่ำ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2318 และพระราชทานเพลิงพระบรมศพวัน ๕ ๔ฯ ๖ ค่ำ ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2318 ครั้นรุ่งขึ้นจึงเชิญพระบรมอัฐิเข้าไปในพระราชวัง เวลาบ่ายจึงนำพระอังคารไปลอยหน้าวัดสำเพ็ง[13] เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2318

ใกล้เคียง