นโยบาย ของ กรมเจ้าท่า

นโยบายของกรมเจ้าท่าในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554)

  1. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานทั้งเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารให้มีการกระจายบริการพื้นฐานให้ทั่วถึงและเพียงพอ นำไปสู่การกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคและสร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกระดับในสังคม อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตลอดจนเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ
  2. ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชย์นาวีทั้งระบบ โดยระบบการขนส่งทางน้ำเป็นการขนส่งที่สามารถขนส่งได้คราวละมาก ๆ ซึ่งเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำและประหยัดพลังงานโดยสอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 แผนพัฒนาโลจิสติกส์ ของกระทรวงคมนาคมและแผนพัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-Modal Transport) ในการสนับสนุนการใช้รูปแบบและวิธีการบริหารจัดการขนส่งเพื่อประหยัด พลังงานรวมทั้งการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในภาคขนส่งไปสู่รูปแบบที่มีต้นทุนต่ำ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
  3. บูรณะและพัฒนาร่องน้ำ โดยการขุดลอกร่องน้ำ การสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น เขื่อนป้องกันการกัดเซาะ และเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง รวมทั้งจัดหาสิ่งอำนวยความปลอดภัยในการใช้ร่องน้ำ เพื่อให้สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้โดยสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งเป็นการช่วยรักษาสภาพทางชลศาสตร์และช่วยให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยดี อันเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง
  4. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากิจการพาณิชย์นาวี และกิจการเกี่ยวเนื่องเพื่อให้การพาณิชยนาวีของไทยเจริญก้าวหน้าสามารถสนองความต้องการของประเทศและสามารถแข่งขันทางเรือระหว่างประเทศได้ อันได้แก่ การขนส่งทางทะเลโดยเพิ่มศักยภาพของกองเรือไทย การเดินเรือ กิจการท่าเรือ กิจการอู่เรือ การผลิตบุคลากร ด้าน พาณิชย์นาวี กิจการของผู้รับ จัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและการประกอบการโลจิสติกส์ กิจการสถานีบรรจุแยกสินค้าและลานคอนเทนเนอร์ ตลอดจนการประกันภัยทางทะเล และรวมไปถึงการกำหนดมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหากิจการพาณิชยนาวี
  5. พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารที่ต้องใช้ระบบการขนส่ง เชื่อมต่อโดยการพัฒนาจุดเชื่อมต่อระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะทางน้ำและทางบก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนการขนส่งให้ต่ำลงและสามารถแข่งขันการค้าและบริการกับต่างประเทศ
  6. จัดหาเรือและระบบเครื่องมืออุปกรณ์ให้ทันสมัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนให้มีการตรวจตรา กำกับดูแล การสัญจรทางน้ำให้เกิดความปลอดภัย รวมทั้งรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำด้วย
  7. เร่งรัดปรับปรุง ศึกษา และพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย เพื่อนำมาช่วยในการพัฒนาระบบงานการขนส่งทางน้ำให้ได้มาตรฐาน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซ้ำซ้อนและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการก้าวไปสู่การให้บริการแบบ One-stop-service เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  8. ปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อบังคับและจัดระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ทางน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งในด้านประสิทธิภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
  9. พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการบริหารท่าเรือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียม อัตราค่าเช่า ในอัตราที่เหมาะสม ส่งผลให้อัตราค่าบริการการขนส่งทางน้ำลดต่ำลง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ อีกทั้งเป็นการชักจูงให้เอกชนที่จะมาลงทุนในการบริหารท่าเรือและผู้ประกอบการหันมาใช้การขนส่งทางน้ำ ซึ่งเป็นการขนส่งที่สามารถขนส่งได้คราวละมาก ๆ ทำให้ต้นทุนสินค้าลดต่ำลงสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ตลอดจนเป็นการประหยัดพลังงานและประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศได้
  10. พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถในด้านต่าง ๆ ให้ทันสมัย สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสนับสนุนให้มีการฝึกอบรม และการศึกษา โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัดิงานได้ รวมทั้งการอบรมด้านคุณธรรมและจริยธรรม
  11. รณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ โดยเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ