การเมืองการปกครอง ของ กรีซยุคอาร์เคอิก

กรีซในสมัยอาร์เคอิกได้ทอดทัศนาเห็นการพัฒนาหน่วยจัดตั้งทางการเมืองแบบใหม่ คือ นครรัฐที่เรียกว่า โปลิส เมืองต่าง ๆ ตลอดทั่วทั้งกรีซเริ่มเข้ามาอยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้นำอัตตาธิปัตย์แบบผูกขาดอำนาจไว้คนเดียว ซึ่งเรียกว่า "ทรราช" ในระยะนี้ยังมีการพัฒนาระบบกฎหมาย และระบบการวินิจฉัยสั่งการในระดับชุมชน โดยเริ่มมีหลักฐานเป็นประมวลกฎหมาย และโครงสร้างทางรัฐธรรมนูญปรากฏให้เห็น ภายในช่วยปลายยุคอาร์เคอิกทั้งรัฐธรรมนูญของเอเธนส์ และสปาร์ต้า ก็พัฒนาไปสู่รูปแบบที่ใช้กันในสมัยยุคทองหรือยุคคลาสสิค หลักฐานแรกสุดของการเกิดขึ้นของนครรัฐกรีก (โปลิส) พบในนครรัฐครีตสมัยศตวรรษที่แปด ในโลกของมหากาพย์อีเลียดไม่ได้มีการกล่าวถึงโปลิส แต่เป็นโลกที่มีชนชั้นสูง (aristocrat) เป็นผู้นำ ออยคอส (oikos) แปลว่าหมู่บ้าน หรือครัวเรือน แต่ในมหากาพย์โอดิสซีย์เราได้พบเห็นชุมชนที่มีลักษณะคล้ายกับเมืองหรือนครรัฐบ้าง ซึ่งแสดงว่าเริ่มมีปัจจัยของการก่อตั้งหรือขยายชุมชนเมืองเกิดขึ้นแล้ว

การเกิดขึ้นของนครรัฐกรีก

ในยุคอาร์เคอิคชาวกรีกเริ่มมาอาศัยอยู่กันเป็นเมือง เกิดการขยายตัวของชุมชนเมือง (urbanization) และพัฒนาไปสู่รูปแบบของนครรัฐที่เรียกว่า โปลิส พอถึงสมัยของโซลอน นครรัฐโปลิสก็ได้รับความหมายอย่างที่เข้าใจกันในยุคคลาสสิค[7] โปลิสเริ่มกลายเป็นศูนย์กลางชุมชนเมืองในบางส่วนของกรีซ ตั้งแต่ราวศตวรรษที่แปด[8] และมีการรับรูปแบบไปใช้ต่อ ๆ กันจนทั่วทั้งกรีซ การขยายชุมชนเมืองในกรีซมีชื่อเรียกว่า ซูนอยคิสมอส (กรีก: συνοικισμóς; อังกฤษ: Synoecism) แปลว่า "การรวมบ้าน/ครัวเรือนเข้าด้วยกัน" อันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่หมู่บ้าน หรือชุมชนย่อย ๆ รวมตัวเข้าจนกลายเป็นชุมชนเมืองที่มีศูนย์กลางเดียวกัน และก่อให้เกิดความต้องการรูปแบบการจัดระเบียบทางการเมืองชนิดใหม่ ทั้งเอเธนส์ และอาร์กอส (Άργος) ผ่านขั้นตอนนี้จนเกิดเป็นนครรัฐขึ้นมาในตอนปลายศตวรรษที่แปดก่อนคริสตกาล[9]

ปัจจัยที่ทำให้เกิดนครรัฐขึ้นมีอยู่หลายอย่าง ประการแรกก็คือการขยายตัวของประชากร ซึ่งอาจเป็นผลจากการอพยบย้ายถิ่นของคนหลาย ๆ กลุ่ม เราสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีการระเบิดขึ้นของจำนวนประชากรในราวศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล นอกจากนี้ก็มีปัจจัยทางศาสนา โดยการเกิดขึ้นของลัทธิความเชื่อหรือพิธีกรรมทางศาสนา มีส่วนสำคัญในการร่วบรวมคนเข้ามาอยู่ด้วยกัน นอกจากนี้ก็มีปัจจัยที่เกิดจากสงคราม โดยบางกรณีการรวมตัวเข้าเป็นเมืองเกิดจากความต้องการการป้องกันจากศัตรูร่วมกัน จึงมีการสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบหลายหมู่บ้าน เช่นในกรณีของเมืองคอรินธ์ (Κόρινθος) ในตอนกลางศควรรษที่เจ็ด[10] นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าการเกิดขึ้นของนครรัฐกรีกจะต้องเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการวิวัฒนาการยุทธวิธีทางการสงครามที่อาศัยการเข้าปะทะกันของกองทัพขนาดใหญ่ ในมหากาพย์ของโฮเมอร์ ได้แก่อีเลียด เราพบว่ารูปแบบการเข้ารณรงค์ยังนิยมการประลองฝีมือกันระหว่างนักรบชนชั้นสูง แต่ในยุคอาร์เคอิกมีการค้นพบการจัดกระบวนทัพให้ทหารราบติดอาวุธหนักเคลื่อนขบวนทัพเกาะกลุ่มเข้าปะทะกัน การจัดและแปรขบวนทัพแบบฮอปไลต์ต้องอาศัยความสามัคคีและการพึ่งพากัน อาวุธที่ใช้ก็ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน (เช่นความยาวของหอก หรือรูปทรง/ขนาดของโล่) นอกจากนี้ก็ยังต้องอาศัยการฝึกหัดอย่างมาก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะมีประชากรจำนวนมากมาอยู่ด้วยกันเป็นเมือง

นครรัฐเอเธนส์

ดูสารนิเทศเพิ่มเติมที่: ประวัติศาสตร์ของเอเธนส์
โซลอน, นักปราชญ์ กวี และผู้ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญให้แก่นครรัฐเอเธนส์ ในตอนต้นของศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล

เอเธนส์เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและการเมืองในโลกของชาวกรีกมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น[11] แต่เริ่มกลายมาเป็นเมืองที่มีอำนาจโดดเด่นเอาในตอนปลายของศตวรรษที่ 6[12] ในช่วงแรกเอเธนส์ปกครองในระบอบกษัตริย์ หรือบาซิเลวส์ (อังกฤษ: basileus) พอถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 8 คือราวปีที่ 712 ก่อนคริสตกาล การปกครองโดยกษัตริย์ก็ยุติลง เปลี่ยนไปเป็นการปกครองโดยผู้บริหารระดับสูงสุดของเมืองที่เรียกว่า "อาร์คอน"[13] (กรีก: ἄρχων) และมีผู้นำทางการทหารสูงสุดเรียกว่า "ปอเลมาร์ค" (กรีก: πολέμαρχος) แต่ผู้จะดำรงค์ตำแหน่ง อาร์คอน กับ ปอเลมาร์ค ได้จะต้องมาจากหนึ่งในบรรดาตระกูลที่ร่วมก่อตั้งเอเธนส์ หรือที่เรียกรวมกันว่า ยูแพทริได (กรีก: Εὐπατρίδαι; อังกฤษ: Eupatridae)[14] นอกจากอำนาจปกครองแล้ว พวกชนชั้นสูง หรือยูแพทริไดยังผูกขาดการใช้อำนาจทางศาลและการใช้กฎหมายด้วย แต่อำนาจนี้ก็เสื่อมลงไปเมื่อดราโกประกาศใช้ประมวลกฎหมายในปี 621

กฎหมายของเอเธนส์ในยุคแรกเป็นประมวลกฎหมายของดราโก (กรีก: Δράκων) ซึ่งรับมาใช้ในปี 621/0 ก่อนคริสตกาล[15] ปัจจุบันที่เหลือรอดมามีแค่ส่วนของกฎหมายอาญา กฎหมายของดราโกมีเป้าหมายเพื่อก่อตั้งสถาบันกฎหมายเพื่อให้ทุกฝ่ายหันมาพึ่งอำนาจตุลาการของรัฐ และเลิกพึ่งพาการล้างแค้นกันระหว่างตระกูล[16] แต่ไม่ได้มีส่วนแก้ไขความขัดแย้งทางสังคมโดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการรับตำแหน่งบริหารระหว่างคนในตระกูลสูงศักดิ์ และพลเมืองชั้นถัด ๆ ลงมา ซึ่งต้องรอการปฏิรูปจากโซลอน[17] ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "อาร์คอนและผู้ไกล่เกลี่ย" ในปี 594/3[18] โซลอนริเริ่มการปฏิรูปกรรมสิทธิที่ดิน และยกเลิกการต้องตกเป็นทาสเพราะการก่อหนี้[19] ทำให้พลเมืองที่เป็นชนชั้นกลางมีอำนาจต่อรองมากขึ้น นอกจากนี้โซลอนยังสร้างรูปแบบการเมืองให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการปกครอง โดยโซลอนเชื่อว่ามนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นไปของประเทศของตน โซลอนขยายโอกาสในการมีส่วนร่วม โดยยกเลิกข้อกำหนดเรื่องชาติกำเนิดในการรับหน้าที่บริหารปกครอง และหันมาใช้เกณฑ์รายได้ (และจำนวนที่ดินที่ครอบครอง) แทน สำหรับคนฐานะยากจน (เรียกว่าพวก thetes) แม้จะเข้ามารับตำแหน่งบริหารหรือนำทัพไม่ได้ แต่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมในสมัชชาใหญ่ของเมือง (Assembly) และเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ โซลอนยังจัดตั้งสภาสี่ร้อยเพื่อรับผิดชอบในการชงเรื่องเข้าสู่สมัชชาใหญ่[20] และใส่ข้อจำกัดอำนาจของอาร์คอนลงไปในรัฐธรรมนูญ โดยเปิดให้พลเมืองสามารถอุทธรณ์คำสั่งอาร์คอนไปยังสมัชชาของเมืองได้[21]

สปาร์ตา

ดูสารนิเทศเพิ่มเติมที่: สปาร์ตา

สปาร์ตาในช่วงศตวรรษที่ ๘ และ ๗ ก่อนคริสต์กาลเป็นยุคสมัยของความไร้กฎระเบียบ และความไม่สงบภายใน ซึ่งได้รับการบอกเล่าจากทั้งเฮโรโดตัส และทิวซิดิดีส ทำให้ต้องมีการปฏิรูป ซึ่งตามตำนานแล้วชาวสปาร์ตาเชื่อกันว่าเป็นผลงานของผู้ให้กฎหมายชื่อ ไลเคอร์กัส (Lycurgus) แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจริงๆแล้ว ไลเคอร์กัสมีตัวตนจริงหรือไม่ การปฏิรูปการปกครองของไลเคอร์กัสทำให้สปาร์ตาเกิดความมั่นคงภายใต้ระบอบสองกษัตริย์ และทำให้เริ่มมีการขยายดินแดนด้วยกำลังทหารฯ สงครามกับเมสซีเนียครั้งแรกเกิดขึ้นประมาณปี 740 - 720 ปี ก่อนคริสต์กาล[22] เป็นผลให้สภาผู้เฒ่า "เกรูเซีย" มีอำนาจเหนือสมัชชาเมือง[23] และมีการจับประชากรของเมสซีเนียมาเป็นประชากรกึ่งทาสเรียกว่า เฮล็อต (Helot)[24] ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สภาเอฟอร์ (Ephor) ซึ่งเป็นสภามีสมาชิกจากการเลือกตั้ง 5 คน ก็ก้าวขึ้นมามีอำนาจควบคู่ไปกับกษัตริย์สองพระองค์ของสปาร์ตา[25] สมาชิกสภาเอฟอร์มีอำนาจถึงขนาดที่ว่าเพลโตเรียกพวกนี้ว่า "ทรราช" ที่กุมชะตาของเมืองไว้เหมือนอย่างพวกเผด็จการ ในขณะที่กษัตริย์สองพระองค์ถูกลดสถานะลงเป็นเหมือนแค่นายพล หลังจากปี 560 ก.คริสต์ เป็นต้นมา สปาร์ตาก็เริ่มสร้างพันธมิตรภาพกับบรรดานครรัฐกรีกต่าง ๆ จนในที่สุดกลายเป็น สันนิบาตเพโลนีเซียน ซึ่งมีเมืองสำคัญอย่างเช่น เอลิส คอรินธ์ และเมการา เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาต[26]

การตั้งอาณานิคม

[บริเวณที่ชาวกรีกเข้าตั้งรกรากในช่วงปลายยุคอาร์เคอิก