ประวัติการก่อตั้ง ของ กรุงเทพมหานคร_(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)

การเรียกขานเมืองหลวงของประเทศไทย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่ากรุงเทพมหานครนั้น มีที่มาจากชื่อเต็มซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรับปรุงแก้ไขเล็กน้อย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ทดลองนำระบบคณะกรรมการปกครองเมืองหลวงมาใช้อยู่ระยะหนึ่ง ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งชาวบ้านก็ยังไม่พร้อม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกเสีย แล้วกลับมาบริหารโดยกรมเวียง ในระบบจตุสดมภ์ตามเดิม ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นกระทรวงเมือง และกระทรวงนครบาล อันมีเสนาบดีทำหน้าที่รับผิดชอบการปกครอง มณฑลกรุงเทพมหานคร ที่ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและธนบุรี (เป็นเมืองเดียวกัน) รวมถึงสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ธัญบุรี (ปัจจุบันคือ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี) มีนบุรี (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในหลายเขตของกรุงเทพมหานคร) และนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในอำเภอพระประแดงของจังหวัดสมุทรปราการ) อันเป็นหัวเมืองใกล้เคียง ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 [1] และข้อบังคับการปกครองหัวเมือง[2]

ยุคจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี

เมื่อมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 [3] กำหนดหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาค ให้มีเพียงจังหวัดและอำเภอเท่านั้น มณฑลกรุงเทพมหานครจึงแบ่งออกเป็นจังหวัดต่างๆ ตามเดิม ส่วนกรุงเทพมหานครและธนบุรี กำหนดให้แยกเป็นสองจังหวัด คือจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี มีผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงาน ส่วนอำเภอมีนายอำเภอทำหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงาน โดยผู้ดำรงตำแหน่งทั้งสองจะทำงานร่วมกับ ผู้แทนหน่วยราชการต่างๆ ที่ส่วนกลางส่งมาทำงานประจำในส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีการยกสถานะแก่เขตที่เป็นชุมชนหนาแน่น ให้เป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรียกว่าเทศบาล ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 [4]อีกด้วย ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพฯ [5] และ พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครธนบุรี [6] โดยให้มีผลในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480[2]

อนึ่ง คณะรัฐมนตรีในสมัยที่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เคยตราพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลกรุงเทพธนบุรี พ.ศ. 2487 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์[7] กำหนดให้จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี รวมเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคเดียวกัน เรียกว่านครบาลกรุงเทพธนบุรี โดยให้มีคณะกรมการจังหวัดเพียงคณะเดียว เรียกว่าคณะกรมการนครบาลกรุงเทพธนบุรี ซึ่งมีข้าหลวงนครบาลกรุงเทพธนบุรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง รวมทั้งรองข้าหลวงนครบาล ปลัดนครบาล (สองตำแหน่งนี้ให้มีมากกว่าหนึ่งคนก็ได้) ผู้บังคับการตำรวจนครบาล ข้าหลวงตรวจการกรมอัยการ และตำแหน่งอื่นเช่นที่บัญญัติแก่กรมการจังหวัด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476[3] แต่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติพระราชบัญญัติ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ รัฐบาลจึงต้องลาออกจากตำแหน่ง ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามบัญญัติไว้ โดยมีควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในพระราชบัญญัติไม่อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลกรุงเทพธนบุรี พ.ศ. 2487 ลงวันที่ 9 กันยายน[8]

เทศบาลนครกรุงเทพฯ

ตราประจำจังหวัดพระนคร

เทศบาลนครกรุงเทพฯ เริ่มเปิดดำเนินงาน ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 โดยเช่าบ้านพักของคุณหญิงลิ้นจี่ สุริยานุวัติ ที่ถนนกรุงเกษม เป็นสำนักงาน โดยมี พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก แต่เนื่องจากสถานที่ไม่อำนวยให้รวมศูนย์หน่วยงานต่างๆ ทั้งหมดไว้ได้ เป็นผลให้การติดต่องานไม่สะดวก ทั้งยังสิ้นเปลืองค่าเช่าสถานที่หลายแห่งด้วย ดังนั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 จึงย้ายสำนักงานเทศบาลมายังตำบลเสาชิงช้า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร) โดยเทศบาลนครกรุงเทพฯ มีสถานะเป็นทบวงการเมือง และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เช่นเดียวกับเทศบาลอื่นทั่วไป เมื่อแรกก่อตั้งมีอาณาเขต 50.778 ตารางกิโลเมตร ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ อีกสามฉบับ โดยเมื่อ พ.ศ. 2485 เพิ่มอาณาเขตเป็น 72.156 ตร.กม., พ.ศ. 2497 ขยายเป็น 124.747 ตร.กม. และครั้งสุดท้าย พ.ศ. 2508 รวมเนื้อที่ทั้งหมด 238.567 ตร.กม. สำหรับสถิติประชากรในเขตเทศบาลนครกรุงเทพ เมื่อ พ.ศ. 2514 รวมทั้งหมด 2,349,215 คน[9]

หน่วยงานบริหารภายในเทศบาลนครกรุงเทพฯ เมื่อแรกก่อตั้งประกอบด้วย สภานคร ซึ่งมีหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของสภาเทศบาลนครกรุงเทพฯ มีเลขานุการสภานครเป็นหัวหน้า ขึ้นตรงต่อประธานสภาเทศบาล (ต่อมายุบรวมกับสำนักปลัดเทศบาล โดยให้เจ้าหน้าที่สำนักปลัด ทำหน้าที่เลขานุการสภาเทศบาล), สำนักปลัดเทศบาล, กองคลัง และ กองผลประโยชน์ ต่อมามีการตราพระราชกฤษฎีกา มอบสิทธิกิจการบางส่วน มาให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ เป็นผู้จัดทำ จำนวนสองฉบับ[10] โดยกำหนดให้เทศบาล รับมอบสิทธิในกิจการและพนักงานเจ้าหน้าที่ ของหน่วยราชการในกระทรวงมหาดไทย อันประกอบด้วย กองช่างนคราทร และ กองถนน จากกรมโยธาเทศบาล (ปัจจุบันคือ กรมโยธาธิการและผังเมือง), กองสาธารณสุขพระนคร (ยกเว้นกิจการอันเกี่ยวกับลหุโทษ), โรงพยาบาลกลาง และวชิรพยาบาล จากกรมสาธารณสุข (ปัจจุบันคือ กระทรวงสาธารณสุข) และ กองตำรวจเทศบาล (ยกเว้นแผนกยานพาหนะพระนครและธนบุรี และ แผนกยานพาหนะหัวเมือง) จากกรมตำรวจ (ปัจจุบันคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480[9]

จากนั้น เทศบาลนครกรุงเทพฯ ก็แบ่งหน่วยงานบริหารภายในเสียใหม่ โดยจัดตั้งกองช่าง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กองการโยธา), กองถนน (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กองรักษาความสะอาด), กองสาธารณสุขพระนคร, กองตำรวจเทศบาล (แบ่งเป็น แผนกตำรวจจราจร แผนกตำรวจสุขาภิบาล และ แผนกดับเพลิง), วชิรพยาบาล และ โรงพยาบาลกลาง ขึ้นเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้เทศบาลยังรับโอน กิจการประปา (รับโอนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2482[11] แล้วโอนกลับคืนให้แก่กรมโยธาเทศบาล เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495[12] เป็นการประปานครหลวง), กิจการดับเพลิง (รับโอนเมื่อปี พ.ศ. 2482 แล้วโอนกลับคืนให้แก่กรมโยธาเทศบาล เมื่อปี พ.ศ. 2495 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย[13]), กิจการเดินรถประจำทาง (ไม่ทราบปีรับโอน ยกเลิกเมื่อ พ.ศ. 2496), กิจการโรงพิมพ์ (ไม่ทราบปีรับโอน ขายต่อให้กรมตำรวจเมื่อ พ.ศ. 2500) และสวนลุมพินี (ปัจจุบันสังกัดสำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร) จากกรมโยธาเทศบาล, เขาดินวนา (ปัจจุบันคือ สวนสัตว์ดุสิต) จากสำนักพระราชวัง (รับโอนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2481[14] แล้วโอนต่อให้แก่องค์การสวนสัตว์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2497[15]) และ กิจการโรงฆ่าสัตว์ (รับโอนเมื่อ พ.ศ. 2490 ดำเนินงานในรูปบริษัท สามัคคีค้าสัตว์ จำกัด จนถึง พ.ศ. 2532) จากกระทรวงอุตสาหกรรม[9]

เทศบาลนครธนบุรี

ตราประจำจังหวัดธนบุรี

เทศบาลนครธนบุรี เริ่มเปิดดำเนินงาน เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2480 โดยใช้จวนของเจ้าจอมพิศว์ บุนนาค ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตั้งอยู่ข้างวัดประยุรวงศาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสำนักงาน ส่วนเทศบาลนครธนบุรีที่จัดตั้งมาก่อนแล้วนั้น ย้ายสำนักงานไปตั้งอยู่ที่ปลายถนนลาดหญ้า ตอนปากคลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร) โดยเทศบาลนครธนบุรี แบ่งหน่วยงานบริหารภายใน ตามที่มีบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2504 ประกอบด้วย สำนักบริหารของคณะเทศมนตรี, สำนักปลัดเทศบาล และ กองคลัง ซึ่งแบ่งเป็น แผนกผลประโยชน์ ซึ่งรับชำระภาษีอากรต่างๆ ทุกประเภทของเทศบาล, แผนกสาธารณสุข ประกอบด้วย หมวดบำบัดโรค รับบำบัดโรคแก่ประชาชนทั่วไป ในลักษณะคนไข้นอก, แผนกช่าง, แผนกรักษาความสะอาด และ แผนกการประปา ซึ่งรับติดตั้งประปา และชำระค่าน้ำประปาทุกประเภท[9]

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ปฏิบัติราชการนอกสำนักงานเทศบาล ประกอบด้วยสำนักทะเบียนท้องถิ่น ซึ่งรับติดต่องานทะเบียนราษฎร แบ่งออกเป็น 7 แขวง ประกอบด้วย สำนักทะเบียนท้องถิ่นแขวงธนบุรี, แขวงคลองสาน, แขวงบางกอกใหญ่, แขวงบางกอกน้อย (ซึ่งรับชำระภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้าย ของอำเภอบางกอกน้อย และอำเภอตลิ่งชันด้วย), แขวงภาษีเจริญ, แขวงบางขุนเทียน, แขวงตลิ่งชัน และสุขศาลา ซึ่งให้บริการบำบัดโรคแก่ประชาชนทั่วไป ในลักษณะคนไข้นอก จำนวนสองแห่ง โดยสุขศาลาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ให้บริการทันตอนามัยด้วย และสุขศาลาจันทร์ไพบูลย์ ให้บริการด้านสงเคราะห์แม่และเด็กด้วย อนึ่งเมื่อแรกก่อตั้ง เทศบาลนครธนบุรีมีอาณาเขตประมาณ 47 ตารางกิโลเมตร ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลนครธนบุรี อีกสองฉบับ ในปี พ.ศ. 2498 และ พ.ศ. 2509 ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2514 เทศบาลนครธนบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 52 ตร.กม. ส่วนสถิติประชากรในเขตเทศบาล รวมทั้งหมด 726,086 คน[9]

ยุคประกาศคณะปฏิวัติ

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 คณะปฏิวัติ ซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า ออกประกาศฉบับที่ 24 สั่งให้รวมจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรีเป็นหนึ่งจังหวัด เรียกว่านครหลวงกรุงเทพธนบุรี โดยตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เรียกว่าผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และให้มีรองผู้ว่าราชการนครหลวงสองคน ส่วนสภาจังหวัดทั้งสองให้สิ้นสุดลง จากนั้นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรจำนวนหนึ่ง เป็นสมาชิกสภานครหลวงกรุงเทพธนบุรีไปพลางก่อน[16] และประกาศฉบับที่ 25 สั่งให้รวมเทศบาลนครกรุงเทพ เข้ากับเทศบาลนครธนบุรี เพื่อเป็นเทศบาลสำหรับนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เรียกว่าเทศบาลนครหลวง โดยให้ผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลวงโดยตำแหน่ง แล้วให้นายกเทศมนตรีกับเทศมนตรีอื่นซึ่ง รมว. มท.แต่งตั้ง อีกไม่เกิน 8 คนรวมกันเป็นคณะเทศมนตรีเทศบาลนครหลวง ส่วนสภาเทศบาลให้เรียกว่าสภาเทศบาลนครหลวง โดยให้ รมว.มท.แต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรไม่เกิน 36 คนเป็นสมาชิก[17]

ต่อมาในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 คณะปฏิวัติออกประกาศฉบับที่ 335 สั่งให้เรียกนครหลวงของประเทศไทยว่ากรุงเทพมหานคร โดยให้มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับผิดชอบการบริหาร ตามนโยบายรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรี คำสั่งนายกรัฐมนตรี และคำสั่ง รมว.มท. และเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการและลูกจ้าง กทม. โดยจะให้มีรองผู้ว่าราชการ กทม.ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ยังถือเป็นครั้งแรก ที่กำหนดให้มีตำแหน่ง ปลัดกรุงเทพมหานคร (มีสถานะเทียบเท่าปลัดจังหวัด) เพื่อรับผิดชอบควบคุมราชการประจำของ กทม. โดยจะให้มีรองปลัด กทม.ด้วยก็ได้ ส่วนสภากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่ รมว.มท.แต่งตั้ง จำนวนเท่ากับเขตใน กทม. มีวาระคราวละสี่ปี และให้มีประธานสภาหนึ่งคน กับรองประธานสภาไม่เกินสองคน ซึ่งสมาชิกเลือกกันเองภายในสภา[18]

ในประกาศฉบับนี้ กำหนดให้เปลี่ยนชื่อเรียก พื้นที่แบ่งส่วนภายใน กทม.ว่าเขต (มีสถานะเทียบเท่าอำเภอ) ตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา โดยให้มีหัวหน้าเขตหนึ่งคน (ระยะแรกให้นายอำเภอรักษาการในตำแหน่ง) ซึ่งจะให้มีผู้ช่วยหัวหน้าเขตด้วยก็ได้ และในแต่ละเขต จะแบ่งออกเป็นแขวง ตั้งโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยให้มีหัวหน้าแขวงหนึ่งคน (ระยะแรกให้กำนันเป็นหัวหน้าแขวงโดยตำแหน่ง) ซึ่งจะให้มีผู้ช่วยหัวหน้าแขวงด้วยก็ได้ นอกจากนี้ ยังให้ประกาศข้อบัญญัติต่างๆ ลงในหนังสือที่เรียกว่า เทศกิจจานุเบกษาของกรุงเทพมหานคร อีกด้วย[18]

ยุคพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2518

ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ภาพเมื่อ พ.ศ. 2551)

จากนั้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นฉบับแรก โดยยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 แล้วกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีสถานะราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง โดยให้มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหนึ่งคน เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย และการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงบริหารราชการตามที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี (หมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) มอบหมาย และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สี่คน ทั้งสองตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและลับ อยู่ในตำแหน่งตามวาระคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ทั้งยังกำหนดให้มีปลัดกรุงเทพมหานคร หนึ่งคน และจะมีรองปลัดกรุงเทพมหานครหรือผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานครหรือทั้งสองตำแหน่งก็ได้ ส่วนสภากรุงเทพมหานครให้มาจากการเลือกตั้งโดยราษฎร ตามอัตราส่วนราษฎรผู้มีสิทธิหนึ่งแสนคนต่อสมาชิกหนึ่งคน อยู่ในตำแหน่งตามวาระคราวละสี่ปี นับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป และให้สมาชิกสภาเลือกประธานสภาหนึ่งคน กับรองประธานสภาไม่เกินสองคน ทั้งสองตำแหน่งมีวาระคราวละหนึ่งปี สำหรับพื้นที่การปกครอง ให้แบ่งออกเป็นเขตและแขวงตามลำดับ ซึ่งในแต่ละเขตให้มีหัวหน้าเขตหนึ่งคน และจะแต่งตั้งผู้ช่วยหัวหน้าเขตก็ได้ โดยแต่ละเขตอาจแบ่งออกเป็นแขวงได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งในแต่ละแขวงให้มีหัวหน้าแขวงหนึ่งคน[19]

นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดต่างๆ ที่น่าสนใจคือ หาก คณะรัฐมนตรี มีมติสั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกจากตำแหน่ง เมื่อพิสูจน์ได้ว่าฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยของประชาชน ละเลยการอันพึงปฏิบัติ หรือปฏิบัติการในอำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือมีความประพฤติในทางเสื่อมเสียแก่ตำแหน่งหน้าที่หรือแก่ราชการ สมาชิกสภา กทม.ไม่น้อยกว่าสองในสามของทั้งหมด มีสิทธิเสนอญัตติต่อสภาเพื่อพิจารณาลงมติ โดยต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของสมาชิกทั้งหมด จึงสามารถจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้ว่า เห็นควรให้ผู้ว่าราชการ กทม.ออกจากตำแหน่งหรือไม่ และหากผู้ว่าราชการ กทม. เสนอขอทบทวนคำแนะนำให้รัฐมนตรียุบสภา กทม.แล้ว 15 วัน รัฐมนตรียังไม่ดำเนินการใดๆ และผู้ว่าราชการ กทม.ยังยืนยันว่าควรยุบสภา ให้เสนอรัฐมนตรีสั่งยุบสภากรุงเทพมหานคร ในกรณีเช่นนี้ ให้รัฐมนตรีสั่งยุบสภา กทม. พร้อมทั้งให้ผู้ว่าราชการ และรองผู้ว่าราชการ กทม. พ้นจากตำแหน่งในคราวเดียวกันด้วย รวมถึงกำหนดให้ดำเนินการจัดให้มีตำรวจกรุงเทพมหานคร และให้ประกาศข้อบัญญัติต่างๆ ลงในหนังสือที่เรียกว่า กรุงเทพกิจจานุเบกษา อีกด้วย[19] (ซึ่งต่อมายกเลิก แล้วให้กลับไปลงในราชกิจจานุเบกษาตามเดิม)

หลังจากนั้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ จำนวน 4 ฉบับ และเป็นประกาศคณะปฏิวัติอีก 1 ฉบับ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

  • พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2518 - ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 โดยกำหนดวันที่ 10 สิงหาคม เป็นวันเลือกตั้งทั้งสามวาระ และรับรองการใดที่อาศัยอำนาจ ตามพระราชกฤษฎีกาที่ยกเลิก ให้มีผลสมบูรณ์แต่ต้น[20]
  • พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 - ให้แก้ไขเนื้อความในบทบัญญัติที่ระบุถึงรัฐสภา เป็นสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม[21]
  • ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 - ให้แก้ไขเนื้อความในบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการ กทม., การแต่งตั้ง คุณสมบัติ และการพ้นจากตำแหน่ง ของเลขานุการผู้ว่าราชการ กทม.และผู้ช่วยเลขานุการ, การกำหนดอัตราเงินเดือนแก่ผู้ว่าราชการ กทม. รองผู้ว่าราชการ เลขานุการผู้ว่าราชการ และผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการ แต่ให้ได้รับจริงเพียงกึ่งหนึ่งของที่กำหนดไว้ในบัญชี[22]
  • พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2522 - ให้แก้ไขเนื้อความในบทบัญญัติว่าด้วยการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าราชการ กทม. ให้สามารถมาจากการแต่งตั้งได้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน และกำหนดให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ใช้อยู่ในเวลานั้น มาใช้บังคับแก่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. รองผู้ว่าราชการ และสมาชิกสภา กทม.โดยอนุโลม ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะกรณีดังกล่าว[23]
  • พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2523 - ให้ยกเลิกเนื้อความในบทบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. รองผู้ว่าราชการ และสมาชิกสภา กทม. โดยให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทั้งสาม มีวาระอยู่ตามเดิมต่อไปก่อน พร้อมทั้งให้อำนาจ ครม.แต่งตั้งผู้ว่าราชการ กทม.และรองผู้ว่าราชการ ขึ้นแทนได้หากตำแหน่งว่างลง รวมถึงให้อำนาจ รมว.มท.โดยความเห็นชอบของ ครม.ในการสั่งให้สมาชิกสภา กทม.พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรให้ดำรงตำแหน่งแทนได้[24]

ยุคเสนอจัดตั้งนครบาล

เมื่อราวต้นปี พ.ศ. 2523 คณะรัฐมนตรีในสมัยที่พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีดำริให้เสนอร่างกฎหมายจัดตั้งทบวงนครบาล ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้แบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานคร ออกเป็นเทศบาลจำนวน 7 แห่ง แล้วให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ใช้อำนาจกำกับดูแล ตามกฎหมายเทศบาลซึ่งกำหนดให้นำมาใช้บังคับแทน ส่วนทบวงนครบาลจะกำหนดให้เป็นหน่วยงานจัดสรรงบประมาณอุดหนุนแก่เทศบาลเหล่านั้น เป็นต้น ในระยะเดียวกันนั้นเอง พรรคกิจสังคมก็เสนอร่างกฎหมายจัดตั้งกระทรวงนครบาล ต่อสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน โดยกำหนดให้แบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานคร ออกเป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีชื่อเรียกใหม่ว่านครบาล จำนวน 11 แห่ง และให้ผู้บริหารกับสภานครบาลแต่ละแห่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทั้งยังกำหนดให้องค์กรสาธารณูปโภคต่างๆ ในเขตนครหลวง ตลอดจนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ย้ายมาขึ้นตรงต่อกระทรวงนครบาลด้วย และยังเปิดโอกาสให้จังหวัดหรือชุมชน ที่มีประชากรหนาแน่น และรายได้เพียงพอ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็สามารถจัดตั้งเป็นนครบาลได้ และจะเข้าอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงนครบาลโดยตรงเช่นกัน[25]

ทว่าเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พล.อ. เกรียงศักดิ์ต้องประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน จึงเป็นเหตุให้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวต้องตกไป ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2521 บัญญัติไว้ แม้สภาผู้แทนราษฎรจะรับหลักการในวาระแรกแล้วก็ตาม หลังจากนั้นมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 โดยมี ศาสตราจารย์ เกษม สุวรรณกุล รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยคนแรก เป็นประธาน และถวิล ไพรสณฑ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผน กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการชุดนี้ จัดตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างขึ้นอีกคณะหนึ่ง โดยมีชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ เป็นประธาน (ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2542 เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา)[25]

ยุคพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2528

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2528 มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครขึ้นอีกครั้ง โดยยกเลิกพระราชบัญญัติฯ ฉบับปี พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 4 ฉบับ รวมถึงประกาศคณะปฏิวัติแก้ไขเพิ่มเติมด้วย แล้วกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นนิติบุคคลและราชการบริหารส่วนท้องถิ่น โดยให้สภา กทม.มีสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งตามเกณฑ์ แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันประมาณหนึ่งแสนคน สามารถเลือกสมาชิกสภาได้หนึ่งคน มีกำหนดวาระคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป โดยให้สภาเลือกสมาชิกเป็นประธานสภาหนึ่งคน และรองประธานสภาไม่เกินสองคน ทั้งสองตำแหน่งมีวาระคราวละสองปี ส่วนผู้ว่าราชการ กทม.กำหนดให้มีหนึ่งคน ซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้น ด้วยการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ วาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันออกเสียงลงคะแนน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย และบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย เป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติราชการ และบังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างของ กทม. กับให้มีรองผู้ว่าราชการ กทม.ไม่เกินสี่คน, เลขานุการผู้ว่าราชการหนึ่งคน ผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกินสี่คน หากมีประธานที่ปรึกษาและที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ ต้องมีรวมกันไม่เกิน 9 คน[26]

นอกจากนี้ ยังจัดระเบียบราชการ กทม.ขึ้นใหม่ ประกอบด้วย สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำของสภา กทม. มีเลขานุการสภากรุงเทพมหานครเป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นต่อปลัดกรุงเทพมหานคร โดยให้มีผู้ช่วยเลขานุการ, สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เกี่ยวกับราชการและภารกิจของผู้ว่าราชการ กทม. มีเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นต่อปลัดกรุงเทพมหานคร โดยให้มีผู้ช่วยเลขานุการ และหัวหน้าสำนักงานเลขานุการตามลำดับ, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำของคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร มีหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นต่อประธานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร โดยจะให้มีผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานก็ได้, สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของ กทม. มีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้บังคับบัญชา โดยจะให้มีรองปลัดกรุงเทพมหานครคนเดียวหรือหลายคนก็ได้, สำนักหรือส่วนราชการอื่นที่มีสถานะเทียบเท่า ทำหน้าที่ราชการตามที่กำหนดโดยประกาศ กทม. มีผู้อำนวยการสำนักเป็นผู้บังคับบัญชา โดยจะให้มีรองผู้อำนวยการสำนักก็ได้[26]

สำหรับเขต กำหนดให้ตั้งสำนักงานเขตขึ้นเป็นครั้งแรก มีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบการปฏิบัติราชการภายในเขต โดยจะให้มีผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตก็ได้ และให้แต่ละเขตมีสภาเขตขึ้นเป็นครั้งแรก โดยสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง จำนวนอย่างน้อยเขตละ 7 คน หากเขตใดมีราษฎรเกินทุกหนึ่งแสนคน ให้เลือกตั้งสมาชิกสภาของเขตนั้นเพิ่มอีกหนึ่งคน มีกำหนดวาระคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป อนึ่ง พระราชบัญญัตินี้ ยังกำหนดอำนาจหน้าที่ภายใต้บังคับของกฎหมายอื่น และการปฏิบัติสำหรับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นต้น[26] แต่มิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยแขวงอีก โดยในการแบ่งส่วนการปกครอง กทม. ยังคงมีแขวงเป็นหน่วยย่อยของเขตอยู่ตามเดิม

หลังจากนั้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ จำนวน 4 ฉบับ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

  • ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 - ให้แก้ไขเนื้อความในบทบัญญัติว่าด้วยรายได้ของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกภาษีการค้า และนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กับภาษีธุรกิจเฉพาะมาใช้แทน ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 30 พ.ศ. 2534 ซึ่งพระราชบัญญัติทั้งสองจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535[27]
  • ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2539 - ให้แก้ไขเนื้อความในบทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กับลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และยกเลิกบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ จากการเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 พ.ศ. 2538 และให้เหมาะสมยิ่งขึ้น[28]
  • ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2542 - ให้แก้ไขเนื้อความในบทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่เกี่ยวกับการมีสัญชาติไทย และการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนเพิ่มสิทธิแก่ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถลงคะแนนเสียงให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ้นจากตำแหน่งตามที่กฎหมายบัญญัติ และสามารถเข้าชื่อเสนอร่างข้อบัญญัติต่อประธานสภา เพื่อให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาออกเป็นข้อบัญญัติได้ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ให้บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมท้องถิ่นอันดีงาม เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย[29]
  • ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 - ให้ยกเลิกเนื้อความในบทบัญญัติว่าด้วยการเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้ผู้เป็นบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ พ้นจากการเป็นบุคคลต้องห้ามดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มิให้เลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกาย[30]
  • ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2562 - ให้ยกเลิกเนื้อความในหลายมาตรา กำหนดวาระดำรงตำแหน่งของผู้ว่าราชการให้ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน แม้ในวาระหนึ่งจะดำรงตำแหน่งไม่ถึง 4 ปี ก็ให้นับว่าดำรงตำแหน่งมาแล้วหนึ่งวาระ แก้ไของค์ประกอบของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กำหนดให้ผู้สมัครผู้ว่าราชการ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีนับถึงวันเลือกตั้งและต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า [31]และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น[32]

เครื่องหมายราชการ

กรุงเทพมหานคร กำหนดเครื่องหมายราชการ เป็นภาพพระอินทร์ พระหัตถ์ขวาทรงวชิราวุธ พระหัตถ์ซ้ายทรงตะขอ ประทับบนหลังช้างเอราวัณหนึ่งเศียรสี่งาทรงเครื่อง ประกอบด้วยรัศมีและลายเมฆ ซึ่งกรมศิลปากรออกแบบ โดยมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ฉบับที่ 60 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2516[33]

โดยก่อนหน้านี้ ตราประจำจังหวัดพระนคร เป็นภาพพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ต่อมาเมื่อยกสถานะขึ้นเป็นเทศบาลนครกรุงเทพฯ จึงเริ่มใช้ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณตามรูปแบบปัจจุบัน ซึ่งมีที่มาจากพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทรงเห็นว่าพระอินทร์เป็นผู้ปกครองเทวดาทั้งหลาย สืบเนื่องจากชื่อกรุงเทพมหานคร จึงเปรียบได้กับนายกเทศมนตรี ซึ่งเป็นผู้ปกครองประชากรในเทศบาล อนึ่งในเครื่องหมายดังกล่าว พระอินทร์และช้างเอราวัณผินเฉียงไปทางซ้ายของตรา โดยไม่มีรัศมีและลายเมฆประกอบ และเมื่อยกสถานะขึ้นเป็นเทศบาลนครหลวง จึงเริ่มใช้รูปแบบดังเช่นปัจจุบัน ต่างเพียงชื่อที่กำกับเท่านั้น

ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นที่ทำการของหน่วยงานเกือบทั้งหมดของ อปท.กทม.ปัจจุบันมีสองแห่งคือ เลขที่ 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร และบริเวณริมถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง อันเป็นที่ตั้งของหน่วยงาน 8 สำนัก ได้แก่ สำนักการจราจรและขนส่ง, สำนักการโยธา, สำนักการระบายน้ำ, สำนักพัฒนาสังคม, สำนักผังเมือง, สำนักสิ่งแวดล้อม, สำนักอนามัย, สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว

ใกล้เคียง

กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรุงเทพมหานคร (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) กรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 กรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 กรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 กรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 กรุงเทพดุสิตเวชการ กรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 กรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548

แหล่งที่มา

WikiPedia: กรุงเทพมหานคร_(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) http://203.155.220.230/info/History/frame.asp http://203.155.220.230/info/History/history_cityof... http://203.155.220.230/info/History/history_link_b... http://www.dusitzoo.org http://www.dusitzoo.org/index.php?option=com_conte... http://www.zoothailand.org http://www.zoothailand.org/index.php/th/the-zoolog... http://city.bangkok.go.th/th/page-content.php?id=3 http://portal.bangkok.go.th/th/structure.html http://www.bangkok.go.th/info