ตำรากลบท ของ กลบท

วรรณกรรมที่ถือกันว่าเป็นตำรากลบทของไทยมี 3 เล่ม คือ

จินดามณี ของ พระโหราธิบดี

เป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก แต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื้อหาประกอบด้วย การใช้สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ การแจกลูก การผันอักษร อักษรศัพท์ อักษรเลข การสะกดการันต์ การแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ และกลบท ซึ่งปรากฏกลบทอยู่ 60 ชนิด มีทั้งกลอักษรและกลแบบ

ศิริวิบุลกิตติ์ ของ หลวงศรีปรีชา (เซ่ง)

เป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เนื้อเรื่องนำมาจากศิริวิบุลกิตติ์ชาดก แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอน โดยใช้กลบทชนิดต่าง ๆ สลับกันตลอดเรื่อง รวมกลบททั้งสิ้น 85 ชนิด เป็นกลอักษรทั้งหมด มีทั้งที่ซ้ำและต่างจากกลบทในจินดามณี

ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ

พ.ศ. 2375 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ และทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่าง ๆ โดยตรวจแก้จากของเดิมบ้าง ประชุมผู้รู้ให้แต่งขึ้นใหม่บ้าง ทั้งด้านวรรณคดี โบราณคดี และวิชาอื่น ๆ และโปรดฯ ให้จารึกแผ่นศิลาประดับไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ ต่อมามีการรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472 มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ตำรากลบทอยู่ในหมวดวรรณคดี มีทั้งหมด 97 ชนิด มีทั้งกลอักษร และกลแบบ กลอักษรส่วนใหญ่ซ้ำกับกลบทในศิริวิบุลกิตติ์