ประดิษฐการทางฉันทลักษณ์ของกลอน ของ กลอน

ในสมัยอยุธยา กลอนที่แพร่หลายคือ กลอนเพลงยาว และกลอนบทละคร ต่อมามีกวีที่ศึกษาฉันทลักษณ์ของกลอนและประดิษฐ์ฉันทลักษณ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างหลากหลายคือ หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ซึ่งประดิษฐ์กลอนกลบทถึง 86 ชนิด ไว้ใน กลบทศิริวิบุลกิตติ ซึ่งเป็นต้นแบบกลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า รวมทั้งกลอนนิทาน

ในสมัยรัตนโกสินทร์ รองอำมาตย์เอก หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) (พ.ศ. 2401 - พ.ศ. 2471) กวีคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ได้แต่ตำราคำประพันธ์ ประชุมลำนำ โดยพัฒนาฉันทลักษณ์ของกลอนให้มีรูปแบบหลากหลายขึ้น ซึ่งได้กำหนดรูปแบบ บท และ ลำนำ ขึ้น โดยให้ บท เป็นกลอนที่มีคำขึ้นต้น ส่วน ลำนำ เป็นกลอนที่มีจำนวนคำวรรคคี่และวรรคคู่ไม่เท่ากัน หากกลอนที่มีลักษณะทั้งสองรวมกันจะเรียกว่า บทลำนำ นอกจากนี้ยังได้ค้นคว้าฉันทลักษณ์ของกลอนสุภาพและกลอนชาวบ้านอย่างละเอียด และได้จำแนกกลอนต่าง ๆ อย่างพิสดาร ได้แก่ กลอนสุภาพ บทกลอนสุภาพ ลำนำกลอนสุภาพ บทลำนำกลอนสุภาพ กลอนสังขลิก บทกลอนสังขลิก ลำนำกลอนสังขลิก บทลำนำกลอนสังขลิก กานต์ บทกานต์ ลำนำกานต์ และบทลำนำกานต์ แต่เสียดายที่ ประชุมลำนำ ซึ่งเสร็จในปี พ.ศ. 2470 ไม่ได้ถูกนำออกมาเผยแพร่ จนกระทั่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้พิมพ์ออกเผยแพร่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 เป็นเหตุให้คำประพันธ์ชนิดต่าง ๆ ของหลวงธรรมาภิมณฑ์ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร