ความเป็นพิษและการใช้ประโยชน์ ของ กลอย

กลอยบางชนิดมีแคลเซียมออกซาเลต ทำให้ระคายเคือง บางชนิดมีซาโปนิน มีฤทธิ์ทำลายเม็ดเลือด มีสารไดออสโครีน (Dioscorine) ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เป็นอัมพาต ละลายน้ำได้ดี รสเบื่อเมา จึงต้องล้างสารนี้ออกจากกลอยก่อนนำไปบริโภค[1]นิยมนำไปแช่ไว้ในธารน้ำไหลเป็นเวลา 1 คืน หรือนานกว่านี้

ชาวซาไกใช้น้ำแช่หัวกลอยผสมกับยางของยางน่องใช้เป็นยาทาลูกธนู ในอินเดียใช้หัวกลอยเป็นยาฆ่าเหา และเบื่อปลา ใช้น้ำแช่หัวกลอยมาฉีดฆ่าแมลงจำพวกหนอน กลอยดิบตำให้ป่นใช้พอกแผลวัวควายเพื่อฆ่าหนอนในแผล หัวกลอยที่ล้างพิษหมดแล้ว ปรุงเป็นยาแก้เถาดานในท้อง นำหัวกลอยมาปรุงเป็นน้ำมันใส่แผลฝีหนอง[1] สารสกัดจากกลอยที่สกัดด้วยเอทานอลมีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการเจริญของ Propionibacterium acnes[3]

นอกจากนี้กลอยยังมีสารไดออสเจนิน diosgenin ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายไฟตอสโตรเจน phytoestrogen ผู้ป่วยมะเร็งที่ไวต่อเอสโตรเจน estrogen ควรระมัดระวังและศึกษาให้ดีก่อนรับประทานกลอย