ประวัติ ของ กลอสซอพเทอริส

อันดับกลอสซอพเทอริดาเลสได้วิวัฒนาการขึ้นมาในช่วงต้นของยุคเพอร์เมียนบนผืนแผ่นดินมหาทวีปกอนด์วานาทางซีกโลกใต้และได้ดำรงเผ่าพันธุ์โดดเด่นในช่วงเวลาที่เหลือของยุคเพอร์เมียนโดยได้สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปทั้งหมดเมื่อสิ้นสุดยุคเพอร์เมียนนั่นเอง มีเพียงหลักฐานของใบพืชกลุ่มนี้ที่เมืองนิดเปอร์ในประเทศอินเดียที่เชื่อกันว่าพบอยู่ในชั้นหินยุคไทรแอสซิกด้วย แต่ก็เป็นเพียงช่วงต้นมากๆของยุคไทรแอสซิกโดยยังเป็นปริศนาที่ว่ามันเป็นหินยุคเพอร์เมียนหรือยุคไทรแอสซิกเนื่องจากมันวางชิดติดกันอยู่ แม้ว่าตำราสมัยใหม่ทางพฤกษศาสตร์โบราณทั้งหลายจะอ้างว่า “กลอสซอพเทอริส” มีการวิวัฒนาการต่อเนื่องเข้าไปในช่วงปลายของยุคไทรแอสซิกและในบางกรณีก็อ้างว่าต่อเนื่องไปจนถึงยุคจูแรสซิกด้วยก็มีนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นความคาดเคลื่อนอันเนื่องมาจากการวินิจฉัยลักษณะรูปลักษณ์สัณฐานที่ผิดพลาดจากลักษณะของใบที่คล้ายกันอย่างเช่นของกอนตริกลอสซา ซาจีนอพเทอริส หรือเมกซิกลอสซ่า ดังนั้น “กลอสซอพเทอริส” จึงยังถือว่าเป็นหนึ่งในบรรดาพวกอื่นๆอีกหลายชนิดที่สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปในช่วงเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อครั้งสิ้นสุดยุคเพอร์เมียน

มีการค้นพบพืชสกุล “กลอสซอพเทอริส” มากกว่า 70 ชนิดเฉพาะในประเทศอินเดียและพบชนิดอื่นๆเพิ่มเติมอีกในอเมริกาใต้ ออสเตรเลีย แอฟริกา มาดากัสการ์ และแอนตาร์กติกา “กลอสซอพเทอริส” ถูกจำกัดการค้นพบเฉพาะในภูมิภาคแถบละติจูดกลางและละติจูดสูงของมหาทวีปกอนด์วานาระหว่างช่วงยุคเพอร์เมียน ส่วนทางตอนใต้ของอเมริกาและแอฟริกาทั้งหมดไม่พบ “กลอสซอพเทอริส” และอวัยวะที่เกี่ยวข้องของมัน อย่างไรก็ตามไม่กี่ปีมานี้มีบางบริเวณในมอร็อกโค โอมาน แอนตาโตเลีย ด้านตะวันตกของเกาะนิวกินี และประเทศไทยที่พบฟอสซิลที่มีความเป็นไปได้ว่าเป็นพวก “กลอสซอพเทอริส” หลักฐานที่พบในกอนด์วานาปรกติจะพบร่วมกับฟอสซิลพืชจากคาเธเชียหรือยูราเมริกาซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ผสมผสานกันระหว่างมลฑลของพืชยุคเพอร์เมียน นอกจากที่พบในอินเดียและรอบๆมหาทวีปกอนด์วานาแล้วฟอสซิลบางชนิดจากซีกโลกเหนือก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่แน่ชัดลงไป ตัวอย่างเช่น ชิ้นตัวอย่างที่ให้เป็น “กลอสซอพเทอริส” ปรกติแล้วต้องการหลักฐานการเกิดร่วมที่ชัดเจนกับส่วนของรากของพืชในกลุ่มนี้ (เรียกว่า “เวอร์เทบราเรีย”) หรือกับอวัยวะสืบพันธุ์ที่ชัดเจน