หน้าที่ ของ กลีบขมับ

ความจำทางการเห็น

สมองกลีบขมับมีส่วนประกอบคือฮิปโปแคมปัสที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความจำระยะยาวแบบชัดแจ้ง (explicit long-term memory) โดยมีอะมิกดะลาเป็นตัวควบคุม.[2]:349

การประมวลสัญญาณความรู้สึก

การได้ยิน

ส่วนที่ติดกันของส่วนบน ส่วนล่าง และส่วนข้างของสมองกลีบขมับมีบทบาทในการประมวลผลของการได้ยินระดับสูง สมองกลีบขมับมีความเกี่ยวข้องในการได้ยินปฐมภูมิ และประกอบด้วยคอร์เทกซ์การได้ยินปฐมภูมิ (primary auditory cortex)[3]

คอร์เทกซ์การได้ยินปฐมภูมิรับข้อมูลความรู้สึกมาจากหูทั้งสองข้าง และคอร์เทกซ์การได้ยินทุติยภูมิประมวลข้อมูลต่อไปให้เป็นหน่วยที่เข้าใจได้เช่นคำพูด[3] รอยนูนกลีบขมับบน (superior temporal gyrus) มีเขตภายในร่องด้านข้างที่สัญญาณเสียงจากหูชั้นในรูปหอยโข่ง (cochlea) เดินทางมาถึงเป็นส่วนแรกในเปลือกสมอง แล้วคอร์เทกซ์การได้ยินปฐมภูมิของสมองกลีบขมับซีกซ้ายก็ประมวลสัญญาณนั้นต่อไป[ต้องการอ้างอิง]

การเห็น

เขตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเห็นในสมองกลีบขมับทำหน้าที่ให้ความหมายกับตัวกระตุ้นทางตา และยังให้เกิดการรู้จำวัตถุ[ต้องการอ้างอิง] ส่วนด้านล่าง (ventral) ของคอร์เทกซ์กลีบขมับมีส่วนร่วมกับการประมวลผลระดับสูงของการเห็นตัวกระตุ้นที่ซับซ้อน เช่นรอยนูนรูปกระสวย (fusiform gyrus) มีส่วนในการรับรู้ใบหน้า[4] และรอยนูนรอบฮิปโปแคมปัสมีส่วนในการรับรู้ทิวทัศน์[5] ส่วนด้านหน้าของสมองกลีบขมับ ซึ่งเป็นส่วนของทางสัญญาณด้านล่าง (ventral stream) ของระบบประมวลผลทางตา มีส่วนร่วมในการรับรู้ (perception) และการรู้จำ (recognition) วัตถุ[3]

ภาพเคลื่อนที่ของสมองกลีบขมับซีกซ้ายของมนุษย์

การเข้าใจภาษา

สมองกลีบขมับซีกซ้ายประกอบด้วยคอร์เทกซ์การได้ยินปฐมภูมิ (primary auditory cortex) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการประมวลความหมาย (semantics) ทั้งในคำพูดและในการเห็น ของมนุษย์[ต้องการอ้างอิง] เขตเวอร์นิเกที่แผ่ขยายไปทั้งในสมองกลีบขมับและสมองกลีบข้าง มีบทบาทสำคัญในการเข้าใจคำพูด โดยทำงานร่วมกับเขตโบรคา (Broca's area) ในสมองกลีบหน้า[6]

กิจหน้าที่ของสมองกลีบขมับซีกซ้ายไม่จำกัดเพียงแค่การรับรู้ระดับต่ำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการรับรู้ระดับที่สูงยิ่งขึ้นไปเช่น การเข้าใจ การเรียกชื่อ และระบบความจำคำพูด (verbal memory) [ต้องการอ้างอิง]

ความจำใหม่

สมองกลีบขมับส่วนใน (medial temporal lobe) ที่อยู่ใกล้ระนาบแบ่งซ้ายขวา (sagittal plane) ได้รับการสันนิษฐานว่ามีส่วนร่วมในการเข้ารหัส[7]ความจำระยะยาวเชิงประกาศ[8] (declarative long term memory)[2]:194–199

สมองกลีบขมับส่วนในประกอบด้วยฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในการบันทึกความทรงจำ ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้อาจทำให้เกิดความเสียหายในการสร้างความทรงจำใหม่ ๆ และอาจนำไปสู่ภาวะเสียความจำภายหน้า (anterograde amnesia[9]) โดยชั่วคราวหรือโดยถาวร[2]:194–199

แหล่งที่มา

WikiPedia: กลีบขมับ http://www.unifr.ch/ifaa/Public/EntryPage/TA98%20T... http://www.nature.com/nature/journal/v392/n6676/ab... http://www.ruf.rice.edu/~lngbrain/cglidden/tempora... http://whoville.ucsd.edu/PDFs/383_Squire_etal_%20A... http://www.sci.uidaho.edu/med532/temporal.htm http://fme.biostr.washington.edu/FME/index.jsp?fma... http://braininfo.rprc.washington.edu/centraldirect... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15217334 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/1559150 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17890189