ประวัติหน่วย ของ กองพันทหารม้าที่_3_กรมทหารม้าที่_1_รักษาพระองค์

ชื่อของ "กองพันทหารม้าที่ 3" (ม.พัน.3 รอ.) ได้ก่อกำเนิดขึ้นมา 2 ระยะ กล่าวคือ ในครั้งแรกเป็นการพัฒนาและเปลี่ยนชื่อจาก "กรมทหารบกม้านครราชสีมาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ" มาเป็น "กองพันทหารม้าที่ 3 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ" เมื่อ พ.ศ. 2470 มีที่ตั้งอยู่ในค่ายสุรนารี ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยมีพันตรีหลวงรณเร่งรบ (เยื้อน ม้าเร็ว) เป็นผู้บังคับกองพันท่านแรก และได้ใช้นามหน่วยนี้ติดต่อกันเรื่อยมาเป็นเวลา 26 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2495 กองพันทหารม้าที่ 3 จึงแปรสภาพเป็น "กองพันทหารม้าที่ 6" ชื่อของ "กองพันทหารม้าที่ 3" จึงได้สลายไปในระยะแรก

นาม "กองพันทหารม้าที่ 3" ได้ก่อกำเนิดอีกครั้งในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2495) นั่นเอง แต่เป็นคนละหน่วยกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กล่าวคือ เป็นหน่วยที่แปรสภาพจาก "กองพันรถรบที่ 1" มาเป็น "กองพันทหารม้าที่ 3 ยานเกราะ" โดยมีสถานะเป็นหน่วยขึ้นตรงของ "กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ฯ" (ม.1 รอ.) เรียกนามย่อว่า "ม.1 รอ.พัน.3" มีที่ตั้งอยู่ ณ ถนนทหาร เกียกกาย แขวงถนนนครชัยศรี เขตดุสิต กทม. เมื่อครั้งแรกที่แปรสภาพ "ม.1 รอ. พัน.3" หน่วยยังคงใช้ยานเกราะของกองพันรถรบเดิมเป็นยานรบหลักเรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2503 จึงได้แปรสภาพเป็นหน่วยในโครงการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐอเมริกามีสภาพเป็น "กองพันทหารม้า (ยานยนต์)" โดยใช้รถเกราะและรถถังแบบเก่าๆ ซึ่งตกค้างมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยานรบหลัก

ต่อมา พ.ศ. 2504 มีการปรับปรุงแก้ไขอัตราอีกครั้งโดยรวมเอา "ม.1 รอ. พัน.2" และ "ม.1 รอ. พัน.3" เป็นกองพันเดียวกัน เรียกว่า "ม.1 รอ. พัน.3" ใช้ อจย.17 - 55 ก. ลงวันที่ 26 ก.ค. 2503 (กองพันทหารม้ายานยนต์) ตามคำสั่งกองทัพบกที่ 91/4957 ลงวันที่ 25 เม.ย. 2504 ใช้ยานยนต์ล้อ ตามโครงการช่วยเหลือทางการทหารที่ซ่อมสร้างจากประเทศญี่ปุ่น และได้ใช้ยานยนต์ประเภทนี้เป็นยานรบหลักอยู่เป็นเวลาถึง 15 ปี

ต่อมา พ.ศ. 2519 มีเปลี่ยนแปลงอัตราการจัดหน่วยใหม่มาใช้ อจย.17-55 ก. ลงวันที่ 19 พ.ค. 2518 หรือ พัน.ม.(ยานยนต์) ใช้รถเกราะคอมมานโด v - 150 ซึ่งมีทั้งแบบติดตั้งปืนใหญ่ ขนาด 90 มิลลิเมตร ,แบบลำเลียงพล และแบบติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 81 มิลลิเมตร เป็นยานรบหลัก ตามคำสั่งกองทัพบก ที่ 58/19 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2519

ต่อมา พ.ศ. 2531 กองพลทหารม้าที่ 2 รายงานขออนุมัติกองทัพบกแปรสภาพ/ปรับการจัดไปเป็น "กองพันทหารม้า-บรรทุกยานเกราะ" (พัน.ม.(ก.)) โดยใช้ อจย.17-25 พ. ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2528 ตามคำสั่งกองทัพบก ที่ 212/2531 ซึ่งใช้รถสายพานลำเลียงพลแบบ 85 (รสพ.85 ประกอบด้วย รถสายพานบังคับการ, รถสายพานติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 82 มิลลิเมตร, รถสายพานติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 120 มิลลิเมตร) เป็นยานรบหลักเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ใกล้เคียง

กองพันลาดตระเวน กองพลนาวิกโยธิน กองพันทหารม้าที่ 3 กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองพันปฏิบัติการพิเศษรักษาพระองค์ กรมรบพิเศษที่ 3 รักษาพระองค์ กองพันรถสะเทินน้ำสะเทินบก กองพลนาวิกโยธิน กองพันทหารช่าง กองพลนาวิกโยธิน กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 กองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์