กะราง

กะราง, กระราง, รางกระบก บ้างเรียก ข้าวราง เป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ทำจากเมล็ดกระบกตำละเอียดปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายและเกลือเล็กน้อย ก่อนหยอดใส่กรวยใบขนุน สามารถเก็บไว้ได้นานราวหนึ่งเดือน มีรสชาติหวานมันเค็มคล้ายเนยถั่ว ใช้คลุกรับประทานกับข้าวเจ้า บ้างใช้ทาหน้าขนมปัง หรือกินต่างน้ำจิ้มถั่วก็มี[1] ในปัจจุบันแม้จะมีการออกจำหน่ายกะรางในราคาถูก แต่หาซื้อได้ค่อนข้างยาก[2] โดยมากมักทำกินกันภายในครัวเรือน[3]คำว่า "ราง" แปลว่า "การคั่วให้สุก" ซึ่งบ่งถึงวิธีการทำของอาหารชนิดนี้อย่างชัดเจน เพราะเมล็ดกระบกไม่อาจกินดิบได้ ด้วยมียางหากรับประทานจะทำให้เมา[1] แต่เมล็ดกระบกที่สุกแล้ว มีสรรพคุณทางยาคือช่วยบำรุงสมองหัวใจ รักษาริดสีดวงจมูก และบรรเทาอาการหอบหืด[2]การทำกะราง คือต้องนำมีดมากระเทาะผลและเมล็ดของกระบกเพื่อเอากระพี้ จากนั้นนำกระพี้ของไปต้มให้สุก ใช้เวลาราว 10 นาที จนเยื่อสีน้ำตาลที่หุ้มกระพี้หลุดร่อนออกได้ เผยให้เห็นเนื้อกระบกสีขาว หลังจากนั้นให้นำเนื้อกระบกไปคั่วให้สุกจนมีสีเหลืองกรอบ ก่อนลงตำในครกทันทีจนละเอียด และปรุงรสด้วยน้ำตาลและเกลือเล็กน้อยตามชอบ ตำจนเนื้อกระบกเหนียวหนืดจากยางกระบกให้เนียน จากนั้นก็นำกะรางหยอดใส่กรวยที่ทำจากใบขนุน ซึ่งมีเนื้อเหนียวไม่แตกง่าย กะรางจะเย็นตัวลงเป็นเนื้อแข็ง สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานราวหนึ่งเดือน หากนำออกมากินก็จะอุ่นร้อนด้วยการนำกะรางใส่ใบหม้อหุงข้าวร้อน ๆ ให้คลายความแข็งสามารถนำไปรับประทานกับข้าวได้ต่อไป[1][2]

กะราง

อุณหภูมิเสิร์ฟ ร้อน
ส่วนผสมหลัก เมล็ดกระบก, น้ำตาล, เกลือ
มื้อ เครื่องเคียง
แหล่งกำเนิด ประเทศไทย