การค้นคว้า ของ กะโหลกแก้ว

กะโหลกแก้วจำนวนมากถูกอ้างว่าเป็นของสมัยพรีโคลัมเบียน ส่วนใหญ่อ้างว่ามาจากอารยธรรมแอซเท็ก หรือ มายา ในวัฒนธรรมของเมโสอเมริกามีการผลิตวัตถุรูปกะโหลกอยู่มากมาย แต่ไม่มีกะโหลกแก้วชิ้นใดที่มาจากการขุดค้นที่มีบันทึกไว้เลย[6] งานค้นคว้าวิจัยกะโหลกแก้วจำนวนมากของพิพิธภัณฑ์บริติชในปี ค.ศ. 1967, 1996 และอีกครั้งในปี 2004 แสดงให้เห็นว่าเส้นร่อง (indented lines) ที่ใช้ทำเป็นรูปฟัน (กะโหลกเหล่านี้ไม่มีการแยกขากรรไกรออกมา ไม่เหมือนกะโหลกมิตเชล-เฮดจิส) แกะสลักโดยใช้เครื่องมือสำหรับการทำเครื่องประดับอย่างเครื่องมือโรตารี ซึ่งมีพัฒนาขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้คำอ้างว่าเป็นของยุคพรีโคลัมเบียนเป็นไปได้น้อยลง[7]

คริสตัลที่ใช้ถูกนำไปตรวจสอบด้วยการตรวจสิ่งเจือปนประเภทคลอไรต์[8] การตรวจสอบพบว่าคริสตัลที่ใช้ทำกะโหลกนี้พบได้เฉพาะที่มาดากัสการ์และบราซิลเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำมาใช้ในเมโสอเมริกายุคพรีโคลัมเบียน งานวิจัยสรุปว่ากะโหลกแก้วสร้างขึ้นในเยอรมนีสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นไปได้สูงว่ามาจากเมืองอีดาร์-โอเบอร์ชไตน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากงานหัตถกรรมแกะสลักควอตซ์นำเข้าจากบราซิลในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19[4]

มีการยืนยันแล้วว่ากะโหลกแก้วของพิพิธภัณฑ์บริติช และพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา (Musée de l'Homme) ในปารีส[9] ถูกขายมาโดยพ่อค้าของโบราณชาวฝรั่งเศส Eugène Boban ผู้ทำงานค้าขายอยู่ในเม็กซิโกซิตีในระหว่างปี ค.ศ. 1860 ถึง 1880[10] กะโหลกแก้วของพิพิธภัณฑ์บริติชถูกส่งต่อผ่านมาทางบริษัททิฟฟานีแอนด์โคจากนิวยอร์ก ส่วนกะโหลกของ Musée de l'Homme บริจาคให้โดยนักชาติพันธุ์วรรณา Alphonse Pinart ซึ่งซื้อกะโหลกนี้มาจาก Boban

แหล่งที่มา

WikiPedia: กะโหลกแก้ว http://science.nationalgeographic.com/science/arch... http://cen.acs.org/articles/91/i9/Crystal-Skulls-D... https://api.semanticscholar.org/CorpusID:6012903 https://www.britishmuseum.org/explore/highlights/h... https://www.britishmuseum.org/explore/highlights/a... https://www.britishmuseum.org/the_museum/news_and_... https://ui.adsabs.harvard.edu/abs/2009ApPhA..94..8... https://api.semanticscholar.org/CorpusID:18204055 https://web.archive.org/web/20081204203153/http://... https://www.independent.co.uk/news/uk/this-britain...