ประวัติ ของ กางเขนประดับอัญมณี

ในยุคโบราณตอนปลายและต้นยุคกลางสิ่งของอันมีความสำคัญมากเช่นหีบบรรจุวัตถุมงคล (Reliquary) มักจะตกแต่งอย่างเต็มที่ด้วยอัญมณีที่เป็นการตกแต่งในลักษณะที่ในปัจจุบันจะจำกัดใช้แต่ในการตกแต่งมงกุฎ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือ เครื่องประดับชิ้นเล็กๆ กางเขนดังกล่าวอาจจะทำออกมาในรูปของภาพเขียน, โมเสก, งาช้างแกะสลัก และ วัสดุอื่นๆ และมักจะมีปลายแขนกางเขนเป็นแฉก แต่สัดส่วนระหว่างแนวตั้งและแนวนอนก็ขึ้นอยู่กับความต้องการขององค์ประกอบซึ่งก็แตกต่างกันออกไปเป็นอันมาก เครื่องห้อย (Pendilia) หรือเครื่องตกแต่งแบบแขวนหรือห้อยก็อาจจะแขวนจากแขนกางเขน โดยเฉพาะจากตัวอักษร แอลฟาและโอเมกาที่เป็นทอง ลักษณะของกางเขนดังกล่าวพบบนชิ้นส่วนของโลงหินจากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4 ปลายแขนกางเขนที่เป็นแฉกก็มีมาตั้งแต่งานที่พบชิ้นแรกๆ[2]

กางเขนประดับอัญมณีเช่นงานโมเสกที่วัดซานตาพูเดนเซียนาในกรุงโรม (ค.ศ. 384–ค.ศ. 389) ตัวกางเขนตั้งอยู่บนเนินที่มีฉากหลังเป็นภาพสัญลักษณ์ของกรุงเยรูซาเลมโดยตัวกางเขนเองเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเยรูซาเลมใหม่หรือ "เมืองสวรรค์"[3] นอกจากนั้นแล้วกางเขนประดับอัญมณีก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของต้นไม้แห่งชีวิตของคริสเตียน โดยเฉพาะเมื่อปลายแขนแจกเป็นแฉกเป็นกิ่ง บางครั้งกางเขนก็จะอยู่บนเนินที่เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ โดยมีแม่น้ำสี่สายไหลลงมาจากกางเขนที่เข้าใจกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระวรสารทั้งสี่[4]