กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง ของ การกล่อมเกลาทางการเมือง

การที่มนุษย์สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปกครอง การเมือง สังคม เศรษฐกิจ การศึกษาและอื่น ๆ ซึ่งเมื่อมนุษย์ได้รับรู้เข้าใจแล้ว จะเกิดความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น การเรียนรู้นี้ จะเกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอน เรียกว่า “กระบวนการ”

แอลมอนด์ และเพาเวล (Almond and Powell , 1966) เสนอว่า กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง คือ กระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองแก่ประชาชน หรือส่งผ่านวัฒนธรรมทางการเมือง กระบวนการสังคมประกิตทางการเมือง ช่วยผดุงวัฒนธรรมทางการเมืองเดิมไว้ โดยส่งผ่านจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมย่างรวดเร็ว ฉับพลัน เช่น เกิดการปฏิวัติ กระบวนการสังคมประกิตทางการเมืองก็สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อนขึ้นมาใหม่ได้

แลงตัน (Langton, 1969) สรุปอย่างกว้างๆ ว่า กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับวิถีทางของการสืบทอดวัฒนธรรมทางการเมือง ภายในสังคมหนึ่งๆ จากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง เป็นกระบวนการของการสืบทอด ที่ดำเนินการผ่านตัวการต่างๆ ของสังคม ซึ่งจะทำให้แต่ละคนได้เรียนรู้ ในอันที่จะกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ของตนกับการเมืองให้เหมาะสม

รัชและอัลธอฟ (Rush and Althoff 1971, 16) กล่าวว่า การกล่อมเกลาทางการเมืองเป็นการที่บุคคลได้รู้ว่าเยาอยู่ในระบบการเมืองและมีการรับรู้ (Perception) และปฏิกิริยา (Reaction) ต่อปรากฏการณ์ทางการเมือง โดยเกิดขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในสังคมที่บุคคลนั้นเป็นสมาชิกอยู่ นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นมาจากปฏิสัมพันธ์ (Interrelation) ของบุคลิกภาพและประสบการณ์ของบุคคลด้วย

หากพิจารณานิยามของคำว่าการกล่อมเกลาทางการเมืองของอีสตันและเดนนิส (Easton and Dennis 1969, 7) เช่นที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว กระบวนการการกล่อมเกลาทางการเมือง ก็ย่อมหมายถึง กระบวนการที่สังคมส่งผ่านความโน้มเอียงทางการเมือง อันได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ ปทัสถาน และค่านิยม จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มีกระบวนการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ สมาชิกใหม่ของระบบการเมืองซึ่งได้แก่ เด็ก ๆ ก็จะต้องแสวงหารูปแบบความโน้มเอียงเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา อันจะย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการเมือง และกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองนี้เอง จะเป็นกระบวนการที่ช่วยรักษาระบบการเมืองให้สามารถดำรงอยู่ได้

ในทัศนะของนักวิชาการไทย ทินพันธ์ นาคะตะ (Nakata 1975, 88) อธิบายว่า กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองโดยทั่วไปคือ การพัฒนาพฤติกรรมของบุคคลซึ่งกระทำต่อกัน และเป็นกระบวนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมทางการเมือง แต่ในกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองทั่วไปนั้น บุคคลจะเรียนรู้ทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งต่างๆเหล่านั้นต่างมีผลต่อทัศนคติ และพฤติกรรมทางการเมืองของบุคคลด้วย

พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว และสายทิพย์ สุคติพันธ์ (2523) ให้คำจำกัดความว่าเป็นกระบวนการที่บุคคลได้มาซึ่งความโน้มเอียงทางการเมือง (political orientation) ต่าง ๆ อันได้แก่ ความรู้ (knowledge หรือ cognition) ความเชื่อ (beliefs) ทัศนคติ และความรู้สึก (attitudes and feeling) และค่านิยม (values) ที่เกี่ยวกับระบบการเมือง กระบวนการทางการเมือง อำนาจทางการเมืองและบทบาทต่างๆในระบบการเมือง กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองนี้ อาจเป็นการผดุงรักษาและส่งทอด (maintain and transmit) หรือการแปลงรูป (transform) หรือการสร้าง (create) ความโน้มเอียงทางการเมืองเหล่านั้นก็ได้

จะเห็นได้ว่า คำจำกัดความและทัศนะของนักรัฐศาสตร์เกี่ยวกับกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองที่ยกมากล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีส่วนร่วมกันหลายประการ ส่วนที่แตกต่างกันไปบ้าง ก็ในประเด็นปลีกย่อย ซึ่งมีลักษณะที่เสริมหรือเพิ่มในรายละเอียดเท่านั้น ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง คือ กระบวนการถ่ายทอดความรู้ ความเชื่อ ทัศนคติ หรือความรู้และค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับด้านการเมือง จากคนกลุ่มหนึ่งไปยังคนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นการถ่ายทอดโดยผ่านตัวการ (agents) ต่าง ๆ ของสังคม

ใกล้เคียง