การชันสูตรพลิกศพ ของ การชันสูตรพลิกศพ

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้แบ่งแย่งการชันสูตรพลิกศพออกจากการผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์อย่างชัดเจน คือแพทย์ผู้ทำการผ่าตรวจพิสูจน์ศพ จะสามารถกระทำการผ่าศพได้ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้ชันสูตรศพ มีความเห็นสมควรให้ผ่าพิสูจน์ศพ รวมทั้งการส่งชิ้นเนื้อของศพให้นิติพยาธิแพทย์ เพื่อทำการตรวจพิสูจน์

ในกรณีที่แพทย์และพนักงานสอบสวนไปทำการชันสูตร ณ สถานที่พบศพ แพทย์และพนักงานสอบสวนต้องระมัดระวังที่จะไม่ทำและก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อการตรวจหาพยานหลักฐานของเจ้าพนักงาน ผู้ทำหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วย แพทย์สามารถใช้การตรวจสถานที่เกิดเหตุเพื่อสำหรับเป็นข้อมูลที่ช่วยประกอบการผ่าศพ เพื่อที่จะสันนิษฐานพฤติการณ์ตายได้ใกล้เคียงขึ้นดังคำว่า "การผ่าศพทางนิติพยาธิวิทยาเริ่มตั้งแต่ที่เกิดเหตุ" แต่ถ้าเจ้าพนักงานสอบสวนทำการชันสูตรศพในเบื้องต้นและรู้สาเหตุการตายแล้ว รวมทั้งพอใจต่อผลของการพิสูจน์ศพในสถานที่เกิดเหตุ ให้ถือว่าการชันสูตรพลิกศพนั้น เสร็จสิ้นตามกฎหมาย[3]

การชันสูตรพลิกศพในไทย

การชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย เป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพเว้นแต่ตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย" ซึ่งการตายโดยผิดธรรมชาติคือ การตาย 5 ลักษณะ ดังต่อไปนี้[5]

  1. การฆ่าตัวตาย
  2. การถูกผู้อื่นทำให้ตาย
  3. การถูกสัตว์ทำร้ายตาย
  4. การตายโดยอุบัติเหตุ
  5. การตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

ส่วนการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ได้แก่การตายที่อยู่ในระหว่างควบคุมหรือขัง หรือกักขัง หรือจำคุก หรือคุมตัวของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หรือคำพิพากษา หรือตามคำสั่งของศาลแล้วแต่กรณี ไม่ว่าการตายนั้นจะเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ หรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเจ้าพนักงานผู้ควบคุมว่า เกี่ยวข้องกับการตายหรือไม่เพียงใด

วิธีการชันสูตรพลิกศพ

ภาพแสดงการชันสูตรพลิกศพโดยการผ่าศพตรวจ

วิธีการชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย มีด้วยกัน 2 วิธี คือ การชันสูตรพลิกศพโดยไม่ผ่าและการชันสูตรพลิกศพโดยการผ่าศพตรวจ สำหรับการการชันสูตรพลิกศพโดยไม่ผ่าคือ การตรวจสภาพภายนอกของศพ ดูเพศ อายุ เชื้อชาติ สิ่งของติดตัว ฯลฯ เพื่อพิจารณาว่าผู้ตายคือใคร ดูสภาพการเปลี่ยนแปลงของศพภายหลังตาย เพื่อประมาณเวลาตาย ดูลักษณะบาดแผลที่ปรากฏเพื่อสันนิษฐานสาเหตุของการตายการตรวจ ดังกล่าวจะต้องพลิกศพดูทั้งด้านหน้าและด้านหลังของศพ จึงใช้คำว่า "พลิกศพ"[6]

การตรวจสอบด้วยการผ่าศพ

ส่วนการชันสูตรพลิกศพโดยการผ่าศพตรวจ เป็นการกระทำเมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อหาสาเหตุการตาย ในกรณีที่การพลิกศพไม่สามารถบ่งบอกสาเหตุการตายได้ชัดเจน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีอาญา มาตรา 151 บัญญัติว่า "ในเมื่อมีความจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพเพื่อแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้งศพ หรือบางส่วนไปยังแพทย์ หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้" การผ่าศพเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการพิสูจน์หาสาเหตุการตาย สามารถตอบปัญหา และข้อสงสัยจากการพลิกศพได้เช่น เมื่อพลิกศพพบบาดแผลเป็นรูลึกเข้าไปในร่างกาย รูลึกนี้อาจเกิดจากกระสุนปืน หรือตะปูขนาดใหญ่ก็ได้ การผ่าศพจะทำให้ทราบว่าบาดแผลนั้นเกิดจากอาวุธหรือวัตถุอะไร และยังทำให้ทราบต่อไปว่าอาวุธหรือวัตถุนั้น ถูกอวัยวะสำคัญอะไรจึงทำให้ตาย หรือในกรณีที่การพลิกศพไม่พบบาดแผลปรากฏภายนอกให้เห็น การผ่าศพจะบอกได้ว่า การตายเกิดจากตับแตก ม้ามแตก ฯลฯ อันเป็นผลให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เส้นโลหิตในสมองแตก ฯลฯ อันเป็นโรคภัยไข้เจ็บธรรมดา เป็นต้น

การผ่าศพ นอกจากจะใช้วิธีผ่าศพตรวจดูด้วยตาเปล่า (อังกฤษ: Gross Examination) แล้ว ยังรวมถึงการตัดเอาก้อนเนื้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ (อังกฤษ: Microscopic Examination) อีกด้วยอย่างไรก็ตาม การผ่าศพไม่สามารถกระทำได้ในกรณีผู้ตายเป็นอิสลามิกชน เนื่องจากหลักการของศาสนาอิสลามมีว่า "มนุษย์ทุกคนที่พระองค์อัลลอย์ทรงสร้างมานั้นเป็นสิทธิของพระองค์ มุสลิมจึงเป็นสิทธิของพระผู้เป็นเจ้า ต้องรักษาไว้ในสภาพเดิมทุกประการ หมายถึงศพอยู่ในสภาพใดก็ให้อยู่ในสภาพนั้น ห้ามมิให้ผู้ใดตัด หรือทำลายศพโดยเด็ดขาด"[7] การยกเว้นผ่าศพชาวไทยอิสลามนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ออกหนังสือที่ มท 387/2500 ลงวันที่ 31 มกราคม 2500 มีข้อความว่า "ขอให้งดเว้น การผ่าศพชาวไทยอิสลามที่ถูกฆาตกรรมแทงตาย ยิงตายหรือโดยอุบัติเหตุ หรือถึงแก่กรรมโดยมิได้ปรากฏเหตุ" และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพฉบับที่ 3 พ.ศ. 2527 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ข้อ 319 มีข้อความว่า "การชันสูตรพลิกศพ ผู้ที่เป็นชาวไทยอิสลาม ถ้าจะต้องทำการดังกล่าวในวรรคก่อน ก็ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการผ่าศพ ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นการผิดต่อลัทธิศาสนาอิสลาม"

ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยยังแยกการชันสูตรพลิกศพกับการผ่าศพออกจากกันคือ ระบุว่าจะทำการผ่าศพต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้ชันสูตรเห็นควรส่งศพ หรือชิ้นส่วนของศพให้แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐทำการผ่าศพหรือแยกธาตุ ถ้าเจ้าพนักงานเห็นว่าการชันสูตรพอรู้สาเหตุการตายแล้ว ถือว่าการชันสูตรศพรายนั้นเสร็จสิ้นแล้วตามกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่วิชานิติเวชศาสตร์ในปัจจุบัน ถือว่าการชันสูตรพลิกศพแต่เพียงอย่างเดียวมักไม่เพียงพอ นิติพยาธิแพทย์ควรพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่าจะมีเพียงบางรายเท่านั้นที่อาจไม่จำเป็นต้องผ่าศพ

การตรวจสอบด้วยการพลิกศพ

การชันสูตรพลิกศพคือการตรวจดูศพแต่เพียงภายนอก ซึ่งกฎหมายมีความมุ่งหมายให้ดำเนินการในสถานที่พบศพ ยกเว้นแต่ว่าการดูในสถานที่นั้นอาจจะทำให้การจราจรติดขัดมาก หรืออาจจะเป็นที่อุดจาด หรืออาจเป็นอันตรายต่อประชาชนทั่วไป ก็สามารถเคลื่อนย้ายไปทำยังสถานที่อื่นที่เหมาะสมได้ เห็นได้ว่าสภาพการจราจรในปัจจุบันทำให้อุบัติเหตุจราจรเกือบทุกรายต้องย้ายศพไปตรวจยังที่อื่นซึ่งก็มักจะเป็นสถานที่ผ่าศพนั่นเอง เมื่อแพทย์และพนักงานสอบสวนไปทำการชันสูตร ณ ที่พบศพ แพทย์และพนักงานสอบสวนต้องระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการตรวจหาพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วย