สถานที่ชุมนุมหลัก ของ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย_พ.ศ._2551

สะพานมัฆวานรังสรรค์

หลังจากประกาศชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ทางกลุ่มพันธมิตรฯ มีมติเคลื่อนมวลชนไปหน้าทำเนียบรัฐบาลและปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่อง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าปิดกั้น จึงทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ เปลี่ยนมาชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก แทน[16] โดยมีการตั้งเวทีและปิดการจราจรบางส่วน เพื่อรักษาความปลอดภัยของกลุ่มพันธมิตรฯ จากฝ่ายต่อต้านซึ่งเข้ามาก่อความวุ่นวาย[17] ซึ่งการปิดการจราจรในครั้งนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบและร้องเรียนมายังกองบังคับการตำรวจจราจรเป็นจำนวนมาก[18] โดยพลตรี จำลอง ศรีเมือง ได้กล่าวถึงการที่กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องมาปักหลักบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์แทนทำเนียบรัฐบาลว่า "พวกตำรวจไม่รู้หรอกว่าผมรู้จักถนนนี้เป็นอย่างดี ผมจึงว่าสะพานมัฆวานฯ นั้นเป็นทำเลที่ดีกว่าทำเนียบรัฐบาลมาก" [19]

กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมใหญ่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2551

หลังการชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ผ่านไปได้ 5 วัน ในวันที่ 30 พฤษภาคม กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยกระดับการชุมนุมจากการชุมนุมเพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการขับไล่รัฐบาลสมัครแทน[20][21] เช้าวันต่อมา สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีว่าจะสลายการชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ แต่ก็ไม่มีการสลายการชุมนุม[22]

กลุ่มพันธมิตรฯ ปักหลักชุมนุมอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์อยู่จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน จึงได้เคลื่อนการชุมนุมไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 กรกฎาคม ศาลแพ่งได้ตัดสินให้กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องเปิดเส้นทางการจราจรบริเวณถนนพิษณุโลกและถนนพระราม 5[23][24] ดังนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ จึงได้ย้ายเวทีและที่ชุมนุมไปเป็นที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์เช่นเดิม[23]

หน้าทำเนียบรัฐบาล

หลังจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรผ่านไปได้ 27 วัน ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลนายสมัคร ดังนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ จึงประกาศเคลื่อนการชุมนุมไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 20 มิถุนายน โดยจะไม่เข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและใช้แนวสันติวิธีปราศจากอาวุธ[25]

วันที่ 20 มิถุนายน 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ สามารถฝ่าแนวสกัดกั้นของตำรวจและเข้ายึดพื้นที่การชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ มีการตั้งเวทีปราศรัยบริเวณแยกนางเลิ้ง [26][27]

อย่างไรก็ตาม การเดินทางมาชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น มีการปิดถนนบริเวณ ถนนพระราม 5 บริเวณแยกเบญจมบพิตร ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกนางเลิ้งจนถึงแยกพาณิชยการ ซึ่งกลุ่มอาจารย์โรงเรียนราชวินิตมัธยมได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้กลุ่มพันธมิตรเปิดเส้นทางการจราจร ทำให้ศาลแพ่งตัดสินให้กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องเปิดเส้นทางการจราจรบริเวณถนนพิษณุโลกและถนนพระราม 5 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม[23][24] ดังนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ จึงตัดสินใจย้ายเวทีและที่ชุมนุมกลับไปเป็นที่บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ดังเดิม

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

วันที่ 26 สิงหาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ เดินทางไปสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและพังประตูเข้าไป โดยอ้างว่าต้องการทวงคืนสื่อของรัฐที่ทำหน้าที่ไม่เป็นกลางโดยมีวัชระ เพชรทองเป็นแกนนำ ตั้งแต่เวลา 8.30 น. สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยงดออกอากาศเพราะถูกกลุ่มพันธมิตรฯ กดดัน โดยเจ้าหน้าที่ในสถานีฯ รายงานว่ามีการใช้อาวุธปืนสั้นจี้ด้วย[28][29] และในวันที่ 27 ตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตร พิษณุโลก ยื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยพิษณุโลก ให้ทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช. ร่วมกันออกรายการความจริงวันนี้[30]

ทำเนียบรัฐบาล

ทำเนียบรัฐบาลระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ต่อมา กลุ่มพันธมิตรฯ ใช้ "ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า" เพื่อเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล[31] โดยให้เหตุผลในการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลในครั้งนี้ว่า ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ถือว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้ว จึงไม่ต้องมีการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกต่อไป[32] มีการบุกยึดทำเนียบรัฐบาลเริ่มตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 26 สิงหาคม และเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จในวันเดียวกันนั้นเอง ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯ จะใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมตลอดไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ[33] หลังจากนั้น รัฐบาลไม่สามารถเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีภายในทำเนียบรัฐบาลได้จวบจนถึงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ต่อมา ศาลแพ่งมีคำสั่งชั่วคราวให้กลุ่มพันธมิตรฯ รื้อถอนเวทีปราศรัยและสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ออกจากทำเนียบรัฐบาล และเปิดถนนพิษณุโลก ถนนราชดำเนินทุกช่องการจราจร [34] อย่างไรก็ตาม แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้นดังกล่าว[35]

ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ภายหลังการเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งใช้เป็นที่ทำการทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 24–25 พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นสถานที่ชุมนุมนอกเหนือจากบริเวณทำเนียบรัฐบาล จนกระทั่ง วันที่ 1 ธันวาคม พลตรี จำลอง ศรีเมือง ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลย้ายการชุมนุมไปที่ท่าอากาศยานทั้งสองแทน เนื่องจากได้ผลมากกว่าและมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากกว่า รวมทั้งเพื่อเปิดเส้นทางเสด็จฯ เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 5 ธันวาคม กลุ่มพันธมิตรฯ ใช้พื้นที่ชุมนุมบริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจนกระทั่งประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธันวาคม[36][37][38]

ใกล้เคียง

การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 การชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาไทย 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน การชุมนุมที่เนือร์นแบร์ค การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2554 การชุมนุมโค่นล้มระบอบทักษิณ พ.ศ. 2556 การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมษายน พ.ศ. 2552 การชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2532 การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า

แหล่งที่มา

WikiPedia: การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย_พ.ศ._2551 http://special.bangkokbiznews.com/detail.php?id=23... http://www.bangkokbiznews.com/2008/06/20/news_2688... http://www.bangkokbiznews.com/2008/12/02/news_3168... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/495111 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/773876 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/802974 http://www.bangkokpost.com/News/07Jun2008_news05.p... http://www.bangkokpost.com/breaking_news/breakingn... http://www.bangkokpost.com/topstories/topstories.p...