เบื้องหลัง ของ การปิดกั้นเบอร์ลิน

การแบ่งประเทศเยอรมนี

หลังสงครามโลกครั้งที่สองในฝั่งทวีปสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ทหารโซเวียตและทหารฝ่ายพันธมิตรตะวันตกต่างก็ขยายพื้นที่ของตนไปตามแนวแม่น้ำเอลเบอ (Elbe) ในขณะที่ทหารของฝรั่งเศสบางส่วนยังปักหลักอยู่ในเยอรมนีตะวันตกเฉียงใต้

ระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน - 2 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรบรรลุข้อตกลงพ็อทซ์ดัม (Potsdam Agreement) ซึ่งกำหนดให้แบ่งเยอรมนีออกเป็น 4 ส่วนโดยแต่ละส่วนจะถูกปกครองโดยชาติที่ครอบครองดินแดนในส่วนนั้นอยู่ก่อนหน้าสงครามจะยุติ กรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีก็จะถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่กรุงเบอร์ลินตั้งอยู่ในพื้นที่ของสหภาพโซเวียตทำให้กรุงเบอร์ลินส่วนที่เป็นของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ ถูกล้อมรอบด้วยทหารโซเวียต

ฝ่ายพันธมิตรดำเนินแผนมอร์เกนเทา (Morgenthau Plan) ที่กำหนดให้ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของเยอรมนีเพียง 50% ของสภาพเศรษฐกิจเมื่อปี 1938 เพื่อป้องกันไม่ให้เยอรมนีกลายเป็นรัฐทหารอันก้าวร้าวได้อีก สหภาพโซเวียตเห็นด้วยกับแผนนี้เพราะไม่ต้องการให้เยอรมนีโจมตีรัสเซีย วียาเชสลาฟ โมโลตอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหภาพโซเวียต กล่าวกับ เจมส์ เอฟ. เบิร์นส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ว่าสหภาพโซเวียตต้องการเห็นเยอรมนีที่ไร้พิษภัย แผน JCS 1067 ของสหรัฐอเมริกาสะท้อนข้อตกลงนี้โดยกล่าวว่าสหรัฐอเมริกาจะ "ไม่ดำเนินการฟื้นฟูเยอรมนีในด้านเศรษฐกิจ" ดังนั้น โรงงานในเยอรมนีส่วนที่สหรัฐอเมริกาครอบครองอยู่จึงถูกรื้อถอนและส่งมอบให้กับเยอรมนีส่วนที่โซเวียตยึดครองเพื่อเป็นการลดศักยภาพทางอุตสาหกรรมของเยอรมนี และให้สหภาพโซเวียตทำตามแผนการฟื้นฟูของตน

มุมมองที่แตกต่าง

ผลลัพธ์ของแผนมอร์เก็นเธานั้นรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างสุดขีดของเยอรมนีส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจทั้งทวีปยุโรปถดถอยลง วิลเลียม แอล. เคลย์ตัน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประนาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ในการประชุมพ็อทซ์ดัมรายงานกลับไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า "ประชาชนหลายล้านคนกำลังอดตายอย่างช้า ๆ "

ในตอนแรก สหรัฐอเมริกายังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายต่อเยอรมนี แต่หลังจากที่นายพลลูเชียส ดี. เคลย์ และบรรดาเหล่าเสนาธิการเริ่มแสดงความกังวลต่อการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีและเศรษฐกิจของยุโรปที่เริ่มพังพินาศ ฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1947 นายพลจอร์จ มาร์แชล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้โน้มน้าวให้ประธานาธิบดีทรูแมนยกเลิกแผน JCS 1067 ในที่สุด แผนการ JCS 1779 ก็ถูกนำมาแทนที่แผนการเดิมโดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "การที่ยุโรปจะเป็นระเบียบและมั่งคั่งได้ จะต้องได้รับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจจากเยอรมนีที่มีเสถียรภาพและอุดมสมบูรณ์" แผนการใหม่นี้สวนทางกับการแผนเดิมอย่างสิ้นเชิง

สหรัฐอเมริกาเริ่มดำเนินนโยบายตามแผนมาร์แชลล์ โดยส่งเงินจำนวนมากให้กับประเทศในยุโรปที่ต้องการเงิน โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต เริ่มสงสัยในแผนการของสหรัฐอเมริกา เขารู้สึกว่าสหรัฐอเมริกากำลังใช้เงินซื้อประเทศในยุโรปเพื่อขยายอิทธิพลของตนให้เป็นจักรวรรดิ เขากล่าวว่า "นี่คืออุบายของทรูแมน มันต่างจากการช่วยให้ประเทศอื่นตั้งตัวได้ สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการช่วยเรา สิ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องการคือการแทรกซึมประเทศในยุโรป"[1] ในตอนต้น โมโลตอฟมีความสนใจแผนการดังกล่าวและยังได้เข้าร่วมการประชุมด้วย แต่เขาเปลี่ยนใจในภายหลังโดยกล่าวว่ามันเป็น "ลัทธิจักรวรรดินิยมดอลลาร์" ในที่สุด สตาลินจึงสั่งห้ามไม่ให้ประเทศในเครือข่ายคอมมิวนิสต์รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

นโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อเยอรมนีในด้านเศรษฐกิจเริ่มไม่ลงรอยกับนโยบายของสหภาพโซเวียต สตาลินต้องการลดศักยภาพของเยอรมนีลงเพื่อไม่ให้ทำสงครามได้อีก แต่สหรัฐอเมริกาต้องการฟื้นฟูเยอรมนีให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของยุโรป ความพยายามที่จะดำเนินนโยบายให้เป็นหนึ่งเดียวนั้นสิ้นสุดลง ค.ศ. 1946 สหภาพโซเวียตเลิกส่งออกผลผลิตทางการเกษตรจากเยอรมนีส่วนยึดครองของโซเวียต นายพลเคลย์ตอบโต้ด้วยการเลิกส่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกรื้อถอนให้กับเยอรมนีส่วนโซเวียต ในที่สุด สหภาพโซเวียตจึงเริ่มใช้นโยบายประชาสัมพันธ์ต่อต้านอเมริกาและเริ่มขัดขวางการดำเนินการในพื้นที่ทั้งสี่ส่วน

สหรัฐอเมริกามีจุดยืนว่า หากสหภาพโซเวียตไม่ให้ความร่วมมือในการรวมเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียว สหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจตะวันตกจะพัฒนาระบบอุตสาหกรรมแบบตะวันตกขึ้นในเยอรมนีและจะรวมเยอรมนีส่วนตะวันตกเข้ากับประเทศยุโรปตะวันตกใหม่ มหาอำนาจฝ่ายตะวันตกทั้งสามบรรลุข้อตกลงนี้ในการประชุมที่ลอนดอนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 และประกาศในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1948 ว่าจะให้เยอรมนีฝั่งตะวันตกมีรัฐบาลที่เป็นอิสระ ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจตามแบบสหรัฐอเมริกา

กรุงเบอร์ลิน

ไม่นานนัก กรุงเบอร์ลินก็กลายเป็นจุดสนใจของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในการที่จะปกครองยุโรปให้เป็นไปตามแผนของตนดังที่โมโลตอฟกล่าวว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นกับเบอร์ลินก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเยอรมนี และสิ่งที่เกิดขึ้นกับเยอรมนีก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับยุโรป"[2] ค.ศ. 1946 ประชาชนชาวเบอร์ลินเลือกผู้สมัครเลือกตั้งที่สนับสนุนประชาธิปไตยเข้าสู่สภาเทศบาลเมืองถึง 86% ชนะผู้สมัครจากพรรคคอมมิวนิสต์อย่างถล่มทลาย ดูเหมือนว่าการที่จะรวมประเทศเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียวได้นั้นจำเป็นจะต้องกำจัดโซเวียตออกไปให้ได้ก่อน[ต้องการอ้างอิง] ชาวเบอร์ลินต่างเต็มใจสนับสนุนนโยบายของชาติตะวันตก

สภาปกครองฝ่ายพันธมิตรเรียกประชุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1948 วาซีลี โซโคลอฟสกี ประธานสภา กล่าวถามถึงรายละเอียดในการประชุมที่ลอนดอน แต่หลังจากที่เขาไม่ได้รับคำตอบในทันที เขาจึงกล่าวว่า "ผมไม่เห็นว่าการประชุมครั้งนี้จะได้ประโยชน์อีกต่อไป ผมขอยกเลิกการประชุม"[ต้องการอ้างอิง] หลังจากนั้น ตัวแทนจากสหภาพโซเวียตทั้งหมดได้ลุกขึ้นและเดินออกจากห้องประชุม โซโคลอฟสกี ผู้ซึ่งรับผิดชอบการประชุมสภาไม่ได้กำหนดให้มีการประชุมอีกครั้ง นั่นจึงหมายความว่าสภาปกครองฝ่ายพันธมิตรได้ล่มสลายลง ทรูแมนได้ให้ข้อสังเกตในภายหลังว่า "สำหรับชาวเยอรมันส่วนใหญ่ นี่คงเป็นเพียงแค่การทำให้ข้อเท็จจริงที่ว่าการปกครองโดยประเทศสี่ประเทศนั้นเป็นไปไม่ได้ดูชัดเจนขึ้น แต่สำหรับชาวเบอร์ลิน มันเผยให้เห็นถึงปัญหาหลัก"[ต้องการอ้างอิง]

วันที่ 31 มีนาคม สหภาพโซเวียตกดดันมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกด้วยการสั่งให้รถไฟทุกขบวนที่จะเข้าสู่กรุงเบอร์ลินจากเยอรมนีตะวันตกจะต้องถูกตรวจสอบ นายพลลูเชียส ดี. เคลย์ ผู้บัญชาการของเยอรมนีส่วนยึดครองสหรัฐอเมริกา จึงสั่งให้รถไฟทางทหารทุกขบวนยกเลิกการขนส่ง เขาสั่งให้ใช้เครื่องบินทำการขนส่งอาหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ให้กับทหารอเมริกันในกรุงเบอร์ลินแทน การขนส่งทางอากาศครั้งนี้ดำเนินไปได้ประมาณ 10 วัน รวมน้ำหนักอาหารและอาวุธที่ถูกขนส่งทั้งหมดรวม 300 ตัน สหภาพโซเวียตได้คลายข้อบังคับนี้ลงเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1948 แต่ยังคงขัดขวางการจราจรทางรถไฟและทางถนนเป็นระยะ ๆ อีกต่อไปถึง 75 วัน

วิกฤตการณ์สกุลเงิน

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948 สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยื่นข้อเสนอต่อสภาปกครองฝ่ายพันธมิตรให้สร้างสกุลเงินเยอรมนีใหม่เพื่อแทนที่สกุลเงินไรช์มาร์ค (Reichsmark) ที่มีปริมาณล้นอยู่ในระบบและขาดมูลค่าอย่างแท้จริง สหภาพโซเวียตปฏิเสธข้อเสนอนี้เพราะต้องการให้เยอรมนีคงสภาพอ่อนแอ ประเทศมหาอำนาจตะวันตกทั้งสามจึงร่วมมือกันสร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมาอย่างลับ ๆ และประกาศใช้ในพื้นที่ของตนเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1948 ในชื่อสกุลเงินดอยช์มาร์ค (Deutsche Mark) สหภาพโซเวียตไม่ยอมรับสกุลเงินนี้ แต่ฝ่ายตะวันตกได้แอบลักลอบเอาเงินสกุลใหม่นี้เข้าไปในเบอร์ลินเป็นจำนวนถึง 250,000,000 ดอยช์มาร์คแล้ว ไม่นานนัก ดอยช์มาร์คก็กลายเป็นสกุลเงินมาตรฐานในทุกพื้นที่ของเยอรมนี

สกุลเงินใหม่ดูจะช่วยทำให้เยอรมนีสามารถกลับมามีเสถียรภาพได้อีกครั้ง นอกจากนี้ มันยังเป็นการข่มขวัญสหภาพโซเวียตด้วยการสร้างฐานที่มั่นทางเศรษฐกิจของฝ่ายตะวันตกขึ้นมาท่ามกลางพื้นที่ยึดครองของโซเวียต ในตอนนี้ สตาลินจึงต้องการให้มหาอำนาจฝ่ายตะวันตกทั้งหมดออกไปจากกรุงเบอร์ลิน

ใกล้เคียง

การปิดล้อม (ยุทธวิธีควบคุมฝูงชน) การปิดกั้นเบอร์ลิน การปิดการเข้าถึงวิกิพีเดียในประเทศตุรกี พ.ศ. 2560 การปิดบริการของรัฐบาลกลางแห่งสหรัฐ พ.ศ. 2556 การปิดล้อมไซ่ง่อน การปิดน่านฟ้าทั่วยุโรปจากการปะทุของเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ พ.ศ. 2553 การปิดประเทศอินเดียเนื่องด้วยการระบาดทั่วของโควิด-19 การปิดเมืองอู่ฮั่นเนื่องด้วยการระบาดทั่วของโควิด-19 การปิดสถานี การปิดอิตาลี พ.ศ. 2563