การดักจับอนุภาคมลพิษบางชนิด ของ การป่าไม้ในเมือง

นอกจากการดูดซับก๊าซพิษบางชนิดแล้วต้นไม้ใหญ่ยังทำหน้าที่เป็นตัวกรองและดักจับอนุภาคที่เป็นอันตรายบางชนิดได้ด้วย อนุภาคจะถูกจับโดยผิวของต้นไม้และผิวของพุ่มใบ อนุภาคเหล่านี้จะเกาะติดตามผิวของต้นไม้ชั่วคราวและจะถูกชะล้างโดยน้ำฝนหรือถูกพัดปลิวออกไปโดยลมที่แรง หรือตกสู่พื้นพร้อมกับการร่วงของใบ แม้ต้นไม้จะเป็นตัวช่วยจับอนุภาคไว้ชั่วคราวก็จริง แต่ข้อดีของมันก็คือการลดปริมาณของอนุภาคมลพิษขนาดเล็กมากที่จะต้องล่องลอยในอากาศเข้าสู่ปอดของมนุษย์โดยตรง ยิ่งมีต้นไม้มากเท่าใดอนุภาคมลพิษที่ล่งลอยในอากาศก็จะลดและเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยลงเท่านั้น

  • ต้นไม้ใหญ๋ใบกว้างที่มีพุ่มใบแน่นทำหน้าที่ดักจับอนุภาคมลพิษได้มากที่สุด
  • การศึกษาที่นครชิคาโกในปี พ.ศ. 2534 พิสูจน์ให้เห็นว่าต้นไม้ใหญ่สามารถดักจับอนุภาคมลพิษขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตรได้ถึงปีละ 234 ตัน
  • ต้นไม้ใหญ่ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 75 เซนติเมตร สามารถขจัดอนุภาคมลพิษได้มากเป็น 70 เท่า (1.4 กก./ปี) ของต้นไม้ชนิดเดียวกันที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 10 เซนติเมตร (0.02 กก./ปี)

การระเหยของสารประกอบอินทรีย์จากหินชีวภาพ (Biogenic)

สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งในการประเมินผลกระทบของการป่าไม้ในเมืองที่มีต่อคุณภาพของอากาศได้แก่การปล่อยสารระเหยที่เป็นสารประกอบอินทรีย์ (biogenic volatile organic compounds -BVOCs) นั่นคือสารเคมีบางชนิดที่ส่วนใหญ่คือ ไอโซพรีน (isoprene) และโมโนเทอร์พีนส์ (monoterpenes) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำมันหอมระเหยและยางไม้ รวมทั้งสารอินทรีย์อื่นที่ต้นไม้ใช้ล่อแมลงให้มาผสมเกษรหรือใช้สำหรับไล่แมลงหรือสัตว์บางชนิด จากการศึกษาพบว่าสารอินทรีย์ต่างๆ ที่ต้นไม้สังเคราะห์เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะดังกล่าวสามารถรวมตัวกับไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) กลายเป็นโอโซนที่เป็นตัวการทำให้เกิดหมอกควันได้ อย่างไรก็ดี การเกิดโอโซนโดยวิธีนี้นับว่าน้อยมาก โดยมากที่สุดจะไม่เกิน 10%

มีต้นไม้เพียงไม่กี่ชนิดที่มีผลต่อการเกิดโอโซนดังกล่าว ในสหรัฐฯ มีต้นไม้ที่สร้างสารไอโซพรีนมากได้แก่ต้นสน (Casuarina) ยูคาลิปตัส สวีทกัม (Liquidambar) แบล็กกัม (Nyssa) เพลนทรี (Platanus) ป็อบปลา โอ๊กหรือก่อ แบล็กโลคัส หรือพวกสีเสียด (Robinia) หลิว สำหรับประเทศไทยยังไม่พบว่ามีการศึกษาวิจัยในด้านนี้ที่สามารถอ้างอิงได้

ต้นไม้ที่สามารถปรับตัวและตอบสนองขึ้นได้ดีในสภาพแวดล้อมนั้นๆ อยู่แล้วแต่มีการปล่อยสารระเหยอินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโอโซนได้ดังกล่าวก็ไม่ควรด่วนโค่นหรือขุดย้ายไปที่อื่น การเอาต้นไม้ที่ปล่อยสารระเหยน้อยกว่ามาปลูกแทนอาจขึ้นไม่ได้ดีเท่าต้นเดิม การชั่งน้ำหนักจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการปล่อยสารระเหยอินทรีย์ไม่ได้มากและเป็นอันตรายเกินอัตราเมื่อเทียบกับสารที่ระเหยจากรถยนต์และจากยางมะตอยที่ตากแดด

ไม่ควรติดป้ายว่าต้นไม้เป็นตัวสร้างมลพิษทั้งนี้เนื่องจากคุณประโยชน์โดยรวมที่มันให้แก่สิ่งแวดล้อมมีมากกว่าข้อเสียในการมีส่วนสร้างโอโซนอันเล็กน้อยนั้น ปกติการเกิดโอโซนจากสารระเหย BVOCs นั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่ร้อน ดังนั้น การปลูกต้นไม่ใหญ่ให้ร่มมากๆ จึงเป็นการลดอุณหภูมิ โอโซนจึงเกิดน้อยไปด้วย

ผลกระทบของการป่าไม้ในเมืองที่มีต่อการเกิดโอโซนเพิ่งถูกค้นพบและเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์เมื่อเร้วๆ นี้เอง การวิจัยยังคงต้องดำเนินการต่ออีกมากเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย ได้มีการศึกษาที่ได้ข้อสรุปเชิงปริมาณเกี่ยวกับผลกระทบของการปลดปล่อยสารระเหย BVOC ที่มีผลต่อการเกิดโอโซนแล้วอย่างชัดเจน แต่ผลกระทบที่จะเกิดโดยตรงต่อการป่าไม้ในเมืองยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าปริมาณสารระเหยอินทรีย์จากต้นไม้มีปริมาณที่แน่ขัดเท่าใดที่จะทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์แล้วเกิดโอโซนที่จะทำให้เกิดหมอกควันที่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมในชุมชนได้ ดังนั้นจึงควรรีบดำเนินการวิจัยต่อให้ทราบผลชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจโค่นต้นไม้ที่ปล่อยสารระเหยอินทรีย์ดังกล่าว

ใกล้เคียง

การป่าไม้ในเมือง การป่าไม้ การป่วยทางจิต การฆ่าตัวตาย การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 การปฏิวัติทางวัฒนธรรม การปฏิวัติฝรั่งเศส การปะทะที่บางกลอย พ.ศ. 2535 การปรับตัวเป็นสัตว์เลี้ยง