เหตุการณ์ตัวอย่าง ของ การพักรบ

สงครามโลกครั้งที่ 1

วันที่ 24 ธันวาคม 2457 ระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการประกาศพักรบอย่างไม่เป็นทางการระหว่างฝ่ายฝรั่งเศส ฝ่ายอังกฤษ กับฝ่ายเยอรมัน เพื่อเฉลิมฉลองวันคริสตสมภพ สองสามวันหลังจากนั้นก็เริ่มรบพุ่งกันใหม่ การพักรบครั้งนี้รู้จักกันในชื่อ "การพักรบในวันคริสตสมภพ" (อังกฤษ: Christmas Truce) ที่ว่าไม่เป็นทางการนั้นเนื่องจากไม่มีการทำหนังสือลงนามทุกฝ่าย

สงครามเกาหลี

วันที่ 27 กรกฎาคม 2496 ระหว่างเกิดสงครามเกาหลี ได้มีการพักรบกันเป็นการชั่วคราวเพื่อคู่สงครามต่างฝ่ายต่างจะได้ไปจัดสร้างเขตปลอดทหาร (อังกฤษ: demilitarised zone) อย่างไรก็ดี ไม่มีการจัดทำหนังสือลงนามของแต่ละฝ่าย

ความขัดแย้งอิสราเอล–ปาเลสไตน์

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ในเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ได้มีการประกาศพักรบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยนายซาเอ็บ เอเรกาต (โรมัน: Saeb Erekat; อารบิก: صائب عريقات) หัวหน้าคณะผู้เจรจาของฝ่ายปาเลสไตน์ได้แถลงดังต่อไปนี้ "เราทั้งสอง (หมายถึงปาเลสไตน์กับอิสราเอล) ได้ตกลงกัน ณ วันนี้ว่าประธานาธิบดีอับบาสจะได้ประกาศยุติความรุนแรงอันเกิดต่อชาวอิสราเอลทุกแห่งทุกหน และนายกรัฐมนตรีชารอนจะได้ประกาศยุติความรุนแรงและกิจการทางการทหารต่อชาวปาเลสไตน์ทุกแห่งทุกหนดุจกัน"[1] [2]

ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

หลังจากที่เกิดความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยมายาวนานหลายปีต่อเนื่องกัน วันที่ 17 กรกฎาคม 2551 สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ได้แพร่ภาพวีดิทัศน์อันมีบุคคลสามคนใช้ชื่อว่า "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย" อ้างว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารของกลุ่มปฏิบัติการใต้ดินทั้งปวงทางภาคใต้ของประเทศไทย นั่งแถลงการณ์เป็นภาษายาวีและมีล่ามแปลเป็นภาษาไทย ว่าตนได้สั่งให้กลุ่มปฏิบัติการใต้ดินดังกล่าวทั้งปวงยุติการรบกับทางราชการไทยเป็นการถาวรนับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม ปีเดียวกันนั้น เป็นต้นไปแล้ว นับแต่บัดนั้นจะไม่มีการก่อความรุนแรงคุกคามชีวิต เลือดเนื้อ และทรัพย์สินของชาวไทยอีก โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีความว่า "จากการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 นับได้เวลาเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้ว ทางกลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทยมีมติประกาศให้ทุกกลุ่มหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหารและการเมืองยุติการก่อความไม่สงบทุกชนิดนับจากวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มใดได้กระทำการขัดขืนหรือขัดคำสั่งทั้งการลอบยิงทำร้ายและลักพาตัว จะถือว่าเป็นอาชญากรของประเทศ นอกจากนั้น การยุติบทบาทเหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้เป็นการนำมาซึ่งความสุขและสันติภาพของประเทศ โดยทางกลุ่มพร้อมอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต้องการสนับสนุนให้ทุกฝ่ายทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและเฉลิมฉลองกับการหยุดก่อความไม่สงบในครั้งนี้"[3]

อย่างไรก็ดี ทางราชการไทยปฏิเสธว่าไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย และแถลงว่าการดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือได้ กับทั้งมีการแถลงว่าแนวความคิดพื้นฐานสำหรับปัญหาเรื่องนี้คือผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าเป็นผู้ทำผิดกฎหมายของประเทศไทย ดังนั้นการจะเจรจากับบุคคลกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้[4]

อนึ่ง ในวันเดียวกันกับที่มีประกาศพักรบเป็นการถาวรดังข้างต้นนั้น ได้มีคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามดักซุ่มยิงทหารชุดเฉพาะกิจที่ 15 ระหว่างลาดตระเวนมาตามถนนในหมู่บ้านยือลาแป ตำบลกรงปินัง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบหารได้รับบาดเจ็บหนึ่งนายจึงนำส่งสถานพยาบาล ซึ่งรัฐบาลไทยก็ได้แถลงว่าจะจับตามองผลจากการประกาศพักรบดังกล่าวต่อไป และคงจัดกำลังพิทักษ์รักษาภาคใต้อยู่ตามปรกติ[5]