การพิมพ์
การพิมพ์

การพิมพ์

การพิมพ์ (อังกฤษ: Printing; ฝรั่งเศส: Imprimerie) คือการผลิตสำเนาข้อความและภาพลงบนวัสดุที่ต้องการพิมพ์ เช่น กระดาษ ผ้า ตามความหมายในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 คือ การทำให้เป็นตัวหนังสือหรือรูปรอยอย่างใด ๆ โดยการกด หรือ การใช้พิมพ์หิน เครื่องกล วิธีเคมี หรือวิธีอื่นใดให้เกิดเป็นสื่อพิมพ์ขึ้นหลายสำเนา[1] จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งปรากฏอยู่บนผนังถ้ำลาสควักซ์ ในฝรั่งเศส และถ้ำอัลตามิรา ในสเปน นอกจากปรากฏผลงานด้านจิตรกรรมที่มีคุณค่าด้านความงามของมนุษยชาติ ในช่วงประมาณ 17,000-12,000 ปีที่ผ่านมาแล้ว ยังปรากฏผลงานแกะสลักหิน แกะสลักผนังถ้ำเป็นรูปสัตว์ลายเส้นซึ่งการแกะสลักภาพลายเส้นบนผนังถ้ำนั้น อาจนับได้ว่าเป็นพยานหลักฐานในการแกะแบบพิมพ์ของมนุษย์เป็นครั้งแรกก็ได้เท่าที่ทราบกันในปัจจุบัน รูปแบบการพิมพ์บนกระดาษเริ่มแรกสุด คือ การพิมพ์บล็อกไม้ (woodblock printing) โดยเริ่มขึ้นในประเทศจีนราวปี ค.ศ. 220[2] จีนเป็นชาติแรกที่พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ด้วยตัวเรียง (movable type) ขึ้นใช้ โดยมี ปี่ เฉิง เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1040[3] และแพร่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออก ต่อมาในศตวรรษที่ 15 โยฮันเนส กูเต็นเบิร์ก สามารถประดิษฐ์เทคโนโลยีแท่นพิมพ์ (printing press) ที่ใช้กับตัวเรียงพิมพ์โลหะได้สำเร็จ เทคโนโลยีแท่นพิมพ์ของกูเต็นเบิร์กนับเป็นการปฏิวัติทางความรู้ที่สำคัญที่สุดในรอบพันปีที่สองของคริสต์ศักราช การพิมพ์ทำให้หนังสือผลิตได้จำนวนมากขึ้นและราคาถูกลง เมื่อเทียบกับหนังสือต้นฉบับบตัวเขียน (manuscript) ที่ต้องใช้เวลาและความอดทนของเสมียนหรืออาลักษณ์ ในการผลิดขึ้นมาแต่ละเล่ม เทคโนโลยีการพิมพ์มีบทบาทสำคัญในการนำสังคมตะวันตกเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม และการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ และเป็นการปูความพร้อมทางวัตถุให้กับเศรษฐกิจฐานความรู้ในยุคสมัยใหม่ โดยเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแพร่กระจายความรู้สู่สาธารณะ[4]