การย้อมส้ม

การย้อมส้ม[1] หรือ เกสราภิวัตน์ (อังกฤษ: saffronisation หรือ saffronization) เป็นคำเรียกนโยบายฝ่ายขวาที่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมฮินดูในประเทศอินเดีย[2] นักวิจารณ์ทางการเมืองประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมา[3] เพื่อเรียกนโยบายของรัฐบาลชาตินิยมฮินดูในอินเดียที่ยายามเชิดชูบทบาทของศาสนาฮินดูในประวัติศาสตร์อินเดีย ในขณะเดียวกันก็ละทิ้งบทบาทของชุมชนศาสนาอื่น ๆ ผ่านทางการแก้ไขเนื้อหาในหนังสือเรียน โดยสีส้มหรือสีฝรั่น (saffron) เป็นสีที่ใช้แทนศาสนาฮินดูในสมัยอาณานิคมอังกฤษ ประวัติศาสตร์ของอินเดียส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งมีเนื้อหาสนับสนุนว่าการปกครองอินเดียโดยอังกฤษนั้นเป็นไปเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงความเป็นอยู่ของอินเดียให้ดียิ่งขึ้น วาทกรรมนี้ปรากฏทั่วไปในหนังสือเรียนยุคอาณานิคมอังกฤษ[4] หลังอินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 มีความพยายามผลักดันการผลิตประวัติศาสตร์ที่เสนอแง่มุมของการกดขี่โดยอังกฤษ[4] รัฐสภาจึงจัดตั้งสภาแห่งชาติว่าด้วยการฝึกและการวิจัยการศึกษา (National Council of Education Research and Training; NCERT) ขึ้นเพื่อร่างแบบเรียนประวัติศาสตร์อินเดียใหม่ NCERT ได้ว่าจ้างนักประวัติศาสตร์และนักจดหมายเหตุเพื่อสร้างหลังสูตรร่วมว่าด้วยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของอินเดีย โดยมีเป้าหมายหลักที่การลบล้างวาทกรรมยุคอาณานิคมออก และมีเป้าหมายหลักในการสร้างหลักสูตรที่เป็นฆราวาสนิยม แนวทางของ NCERT นี้สร้างความไม่พอใจในหมู่ขวาจัดฮินดูมาก[5]พรรคภารตียชนตา (BJP) เคยกล่าวว่าแบบเรียนประวัติศาสตร์อินเดียหลายเล่มมีเนื้อหาแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง และเป็นมาร์กซิสต์ อย่างเปิดเผย[5] ในอดีต BJP มีความพยายามที่จะแก้ไขหลักสูตรประวัติศาสตร์นี้แต่ล้มเหลวโดยเฉพาะในรัฐที่พรรคไม่ได้อยู่ในอำนาจ นอกจากนี้ BJP ยังอ้างวาทกรรมแอบแฝงในการต้านฮินดู เพื่อเข้ามาจัดโครงสร้างองค์กร NCERT และสภาการศึกษาประวัติศาสตร์อินเดีย (Indian Council of Historical Research; ICHR) เพื่อให้ผลิตแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ตรงกับมุมมองชาตินิยมฮินดูของ BJP[6] ส่วนในรัฐที่ BJP มีอำนาจในทางการเมืองอยู่นั้น แบบเรียนได้ถูกแก้ไขอย่างหนักเพื่อให้ชูวาทกรรมชาตินิยมฮินดู[7] การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ เช่น การลบล้างประเด็นเรื่องการยกเลิกระบบชนชั้นวรรณะ (caste-based exclusion) และความรุนแรงจากชนชั้นวรรณะ ออกจากประวัติศาสตร์ ไปจนถึงการลดทอนหรือลบบทบาทของชาวมุสลิมในการสร้างชาติอินเดีย[3]ฮินดูสตานไตมส์ รายงานผลการตรวจสอบเนื้อหาแบบเรียนที่ถูกย้อมส้มโดย BJP ในปี 2014 ระบุว่าความพยายามของฝ่ายขวาในการเปลี่ยนแบบเรียนและแก้ไขประวัติศาสตร์นี้ต้องเจอกับ "การต่อต้านในระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่มีนักประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน"[8]