กระแสต่อต้าน ของ การรวมราชบัลลังก์

ในสกอตแลนด์ หลายคนเห็นสัญญาณบ่งชี้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้อาจเปรียบได้กับ "ปลาตัวใหญ่กินปลาตัวเล็ก" ดังเช่นที่พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ได้ตรัสเอาไว้ ตัวอย่างที่เห็นได้ก่อนหน้านี้ก็คือไอร์แลนด์ ราชอาณาจักรแต่เพียงในนาม หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วแท้จริงก็คือรัฐบริวารนั่นเอง (นับตั้งแต่ พ.ศ. 2144) นักเขียนและนักกฎหมายอย่างจอห์น รัสเซล ได้ถวายฎีกา การรวมเป็นสหภาพอันปีติและศักดิ์สิทธิ์ระหว่างราชอาณาจักรโบราณแห่งสกอตแลนด์และอังกฤษ (the happie and blissed Unioun betuixt the tua ancienne realmes of Scotland and Ingland) เตือนพระเจ้าเจมส์ว่า

อย่างทรงปล่อยให้นี่เป็นการเริ่มต้นด้วยสุขนาฏกรรมแต่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม ด้วยการร่วมเป็นสหภาพที่ปราศจากความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ผลักดันอาณาจักรของตนให้ก้าวหน้าเพื่อชัยชนะแห่งเกียรติยศโดยไม่สนใจพวกที่เหลือ ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับความว่างเปล่าและความอ้างว้างที่ไม่ทัดเทียมกับพระเกียรติยศของพระองค์ เนื่องด้วยพระเจ้าได้ประทานสกอตแลนด์ จักรวรรดิแรกเริ่มอันเก่าแก่ที่สุด ไว้เป็นส่วนหนึ่งแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระองค์มาแต่เดิมแล้ว

ความหวาดกลัวนี้ยิ่งถูกแผ่ขยายออกไปโดยรัฐสภาสกอตแลนด์ สมาชิกรัฐสภากล่าวต่อพระเจ้าเจมส์ด้วยความมั่นใจว่าแผนการรวมเป็นสหภาพของพระองค์จะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อกฎหมายและเสรีภาพอันเก่าแก่ของสกอตแลนด์ แต่หากว่าเกิดผลกระทับดังกล่าวขึ้น "ระบอบราชาธิปไตยแบบเสรีคงมิอาจดำรงอยู่ได้อีกต่อไป" พระเจ้าเจมส์ทรงพยายามให้พสกนิกรชาวอังกฤษของพระองค์มั่นใจว่าการรวมเป็นสหภาพจะไม่แตกต่างจากการเป็นสหภาพระหว่างอังกฤษและเวลส์ และว่าหากสกอตแลนด์เลือกที่จะปฏิเสธแผนการดังกล่าวแล้ว "ก็จะทรงบีบบังคับให้พวกเขายินยอม" ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2147 รัฐสภาของทั้งสองประเทศผ่านร่างพระราชบัญญัติในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ถึงการรวมเป็น "สหภาพที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น" โดยพระเจ้าเจมส์มีพระราชดำรัสปิดการพิจารณาร่างฯ ดังกล่าวในวาระสุดท้ายด้วยการต่อว่าฝ่ายที่ต่อต้านสหภาพในสภาสามัญชนว่า "ณ สถานที่แห่งนี้ ... ท่านผู้มีบุญญานุภาพได้ฝั่งร่างของตนลง ณ ก้นเหวแห่งท้องทะเล ด้วยใคร่พินิจแต่การแบ่งแยกสหภาพซึ่งพระเจ้าได้ทรงประสานเอาไว้"

คณะกรรมการว่าด้วยการรวมเป็นสหภาพดังกล่าวปฏิบัติงานตามพันธกิจของตนได้เพียงน้อยนิด โดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างสองชาติ อาทิเช่น ความบาดหมางในประเด็นเส้นเขตแดน การค้า และสถานภาพของพลเมือง มีการถกเถียงถึงแนวคิดการเปิดการค้าเสรีกันอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับประเด็นสิทธิอันเท่าเทียมตามกฎหมาย ความหวาดกลัวและวิตกกังวลว่าชาวสกอตแลนด์ผู้ยากจนจะแย่งงานไปจากชาวอังกฤษจนหมดถูกแสดงออกกันอย่างเปิดเผยในรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ พวกเขากังวลว่าชาวสกอตแลนด์จำนวนมากจากอาณาจักรยากจนทางตอนเหนือ "จะล้นทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจจะนำความอดอยากและความตายตามมาด้วย" ส่วนประเด็นสถานภาพพลเมืองของบุคคลที่เกิดหลังการรวมราชบัลลังก์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2146 นั้นยังไม่ได้รับการชี้ชัดโดยรัฐสภา แต่ถูกชี้ชัดจากฝ่ายตุลาการด้วยคำพิพากษาใน คดีแคลวิน พ.ศ. 2151 ที่ตัดสินให้พสกนิกรใต้อาณัติของพระมหากษัตริย์ (ที่เกิดหลังการรวมราชบัลลังก์) ทุกคนอยู่ภายใต้ระบอบกฎหมายจารีต (คอมมอนลอว์) ของอังกฤษ ไม้เว้นแม้กระทั่งบุคคลซึ่งเกิดในสกอตแลนด์

ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสองชาติ

อภิสิทธิ์ชนชาวสกอตและผู้โหยหาอำนาจต่างพากันมุ่งสู่กรุงลอนดอน หวังแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งอันใหญ่โตในรัฐบาล หลายปีต่อมาเซอร์แอนโธนี เวลดอน เขียนไว้ว่า

สกอตแลนด์ดีเกินไปสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ แต่เลวร้ายเกินไปสำหรับผู้ปกครอง อากาศ ณ ที่แห่งนั้นคงจะบริสุทธิ์มาก แต่สำหรับเฉพาะผู้อยู่อาศัยผู้เน่าเหม็นเท่านั้น สัตว์ที่อาศัยอยู่ก็มีขนาดเล็ก (ยกเว้นสตรี) จนสายพันธุ์อื่นใดในโลกก็ตามไม่อาจเทียบเทียม

ในสุขนาฏกรรมเรื่อง อีสต์เวิร์ดโฮ (Eastward Ho) ซึ่งเป็นการรังสรรค์ร่วมกันระหว่างเบน โจนสัน, จอร์จ แชปแมน และจอห์น มาร์สตัน มีการคาดการณ์ถึงชีวิตอันแสนสุขสบาย ณ อาณานิคมเวอร์จิเนียไว้ว่า

ที่นั่น ท่านจะได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างอิสระปราศจากนายทหาร ข้าราชสำนัก นักกฎหมาย หรือนักปราชญ์ - มีเพียงแต่ชาวสกอตผู้กล้าได้กล้าเสียจำนวนหนึ่ง ที่บางทีอาจแพร่กระจายกันไปทั่วทั้งพื้นแผ่นดินของโลกใบนี้ แต่สำหรับพวกเขาแล้ว คงไม่มีมิตรสหายไหนดีไปกว่าอังกฤษและชาวอังกฤษอีกแล้ว ข้าพเจ้าหวังอยากให้มีพวกเขาจำนวนหลายแสนคนที่นั่น และเมื่อเราต่างก็เป็นชนชาติเดียวกันแล้ว สำหรับเราชาวอังกฤษผู้ตั้งถิ่นฐานในอาณานิคมแห่งนั้น คงจะมีชีวิตอันสุขสบายมากกว่าอยู่ที่นี่นับสิบเท่า

จากบทละครนั้นเอง กระแสความไม่พอใจและต่อต้านอังกฤษแพร่กระจายไปทั่ว และในปี พ.ศ. 2152 พระเจ้าเจมส์ผ่านร่างพระราชบัญญัติที่พิจารณาบทลงโทษอันร้ายแรงต่อนักเขียน นักประพันธ์ หรือผู้ครอบครอง งานเขียนเชิงเสียดสี งานเขียนเชิงดูหมิ่น บทเพลง เรื่องเล่าเชิงขบขัน ตลก และคำประกาศใดก็ตามที่บ่อนทำลายและดูหมิ่นประเทศและรัฐชาติแห่งอังกฤษ

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2148 เอกอัครราชทูตเวนิสประจำกรุงลอนดอนบันทึกไว้ว่า "ข้าพเจ้ามั่นใจได้ว่าข้อถกเถียงเรื่องการรวมเป็นสหภาพจะตกไป ฝ่าพระบาท (พระเจ้าเจมส์) ทรงตระหนักได้อย่างถ่องแท้แล้วว่ามิสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทั้งสองฝ่ายล้วนแต่แสดงความดื้อรั้นออกมาเสียจนไม่มีที่ว่างสำหรับความปรองดอง ฉะนั้นแล้ว ในตอนนี้ฝ่าพระบาทก็ทรงทำได้แต่เพียงปล่อยวางประเด็นดังกล่าว คอยหวังว่ากาลเวลาจะช่วยกลบกลืนตลกร้ายเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป"

ใกล้เคียง