เหตุการณ์ ของ การรุกรานรัสเซียของฝรั่งเศส

บุกรัสเซีย

กองทัพใหญ่ (Grande Armeé) เป็นกำลังรบขนาดมหึมาที่มีทหารมากถึง 680,000 นาย (เป็นทหารฝรั่งเศสราว 400,000) นโปเลียนเคลื่อนพลเข้าไปทางตะวันตกของรัสเซียอย่างรวดเร็วโดย และพยายามให้กองทัพรัสเซียเข้าปะทะ การปะทะเล็กหลายครั้งรวมถึงศึกใหญ่ที่สโมเลนสค์ในสิงหาคมนั้น นโปเลียนเป็นฝ่ายชนะอยู่เสมอ แต่แม้จะรุกคืบได้เสมอแต่ก็ไม่เป็นที่พอใจของนโปเลียน เนื่องจากกองทัพรัสเซียได้หลีกเลี่ยงการต่อสู้ตลอดและถอยลึกเข้าไปในแผ่นดินรัสเซีย ทิ้งเมืองสโมเลนสค์ไว้ในกองเพลิง ทำให้แผนการที่จะทำลายกองทัพรัสเซียที่สโมเลนสค์นั้นต้องเป็นหมันไป และนำทัพไล่ตามกองทัพรัสเซีย[9]

ในระหว่างที่ทัพรัสเซียล่าถอยลึกเข้าไปในแผ่นดิน แม่ทัพรัสเซียก็สั่งให้พวกคอสแซคเผาทำลายหมู่บ้าน, เมือง และทุ่งข้าวโพดระหว่างทางผ่านให้สิ้น[8] เพื่อหวังไม่ให้กองทัพนโปเลียนมาใช้ประโยชน์ได้ กลยุทธ Scorched earth ของฝ่ายรัสเซียนี้ สร้างความความยุ่งยากและความตะลึงแก่กองทัพนโปเลียนเป็นอันมากว่ารัสเซียจะสามารถทำร้ายแผ่นดินและราษฎรของตนเองเพียงเพื่อสกัดกั้นทัพข้าศึก ซึ่งยากที่แม่ทัพฝรั่งเศสจะเอาอย่างได้[10] ด้วยเหตุฉะนี้ กองทัพนโปเลียนจึงจำต้องพึ่งแต่กองสนับสนุนทางเสบียง ซึ่งเสบียงที่ขนส่งมากก็ไม่พอเลี้ยงกองทัพมหึมาทั้งกองทัพ ความขาดแคลนเสบียงบังคับให้ทหารจำต้องออกจากค่ายในเวลากลางคืนเพื่อหาอาหาร ซึ่งบ่อยครั้งที่ทหารเหล่านี้ต้องถูกจับหรือถูกฆ่าตายโดยพวกคอสแซค

กองทัพรัสเซียใช้เวลาราวสามเดือนในการถอยทัพลึกเข้าไปในแผ่นดิน การสูญเสียดินแดนจำนวนมากแก่นโปเลียนเริ่มทำให้ขุนนางรัสเซียกลัดกลุ้ม พวกขุนนางจึงรวมตัวกดดันซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ให้ปลดจอมพล ไมเคิล บาร์เคลย์ ผู้บัญชาการกองทัพจักรวรรดิรัสเซียเชื้อสายสก็อตแลนด์ลงจากตำแหน่ง ในที่สุดพระองค์ก็ยินยอมแต่งตั้งทหารเก่าแก่ จอมพล มีฮาอิล คูตูซอฟ ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพแทนอย่างไม่ค่อยยินดีพระทัยนัก กระบวนการถ่ายโอนตำแหน่งนี้กินเวลากว่าสองสัปดาห์

วันที่ 7 กันยายน กองทัพนโปเลียนก็เผชิญหน้ากับกองทัพรัสเซียที่ขุดดินซุ่มอยู่เชิงเขาก่อนถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชื่อโบโรดิโน ราว 110 กิโลเมตรทางตะวันตกของมอสโก การปะทะในวันนั้นถือเป็นการปะทะที่นองเลือดที่สุดในวันเดียวของสงครามนโปเลียน ซึ่งมีทหารเสียชีวิตกว่ากว่า 70,000 นาย แม้ว่าฝ่ายนโปเลียนจะได้รับชัยชนะในเชิงยุทธวิธี แต่ก็ต้องเสียนายพลไปถึง 49 นายและทหารอีกหลายหมื่น กองทัพรัสเซียที่เหลือรอดสามารถหนีไปได้ในวันต่อมา[11]

ยึดมอสโก

หนึ่งสัปดาห์ต่อมาในวันที่ 14 กันยายน นโปเลียนกรีฑาทัพถึงกรุงมอสโก ซึ่งสร้างความงุนงงแก่เหล่าทหารมากที่เมืองทั้งเมืองเป็นเมืองร้างที่แทบไร้ผู้คน เนื่องจากรัสเซียได้อพยพผู้คนเกือบทั้งหมดออกไปก่อนหน้าแล้ว นอกจากนี้ ข้าหลวงกรุงมอสโกยังแอบซ่องสุมคนส่วนหนึ่งไว้ในมอสโก อาศัยจังหวะที่ฝ่ายฝรั่งเศสเผลอทำการวางเพลิงทั่วมอสโก ทัพนโปเลียนใช้เวลากว่าหกวันในการดับไฟอย่างทุลักทุเล นโปเลียนยังคงตัดสินใจปักหลักในมอสโกเพื่อรอให้รัสเซียประกาศยอมแพ้ตามธรรมเนียมการเสียเมืองหลวง แต่การเสียมอสโกซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งที่สองก็ไม่ทำให้ซาร์แห่งรัสเซียยอมจำนน อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักดีถึงความโหดร้ายของหน้าหนาวในรัสเซีย เช่นนั้นแล้วก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มตัว นโปเลียนจึงจำเป็นต้องพิชิตรัสเซียให้เร็วที่สุด นโปเลียนรออยู่ในมอสโกหนึ่งเดือนเศษจึงตัดสินใจยกทัพออกจากมอสโกไปยังเมืองคาลูกาทางตะวันตกเฉียงใต้ ที่ซึ่งจอมพลคูตูซอฟแห่งรัสเซียตั้งค่ายทัพหลวงอยู่ที่นั่น

นโปเลียนถอนทัพ

กองทัพนโปเลียนต้องเผชิญสภาพอากาศเลวร้ายระหว่างถอนทัพ

การเคลื่อนพลของนโปเลียนไปยังคาลูกาถูกจับตาโดยหน่วยสอดแนมของรัสเซีย นโปเลียนได้ปะทะกับรัสเซียอีกครั้งที่มาโลยาโรสลาเวตในวันที่ 24 ตุลาคม แม้ว่าจะได้รับชัยชนะ แต่นโปเลียนก็เลิกล้มที่จะไปยังคาลูกาเนื่องจากเริ่มเข้าฤดูหนาวและตัดสินใจถอนทัพออกจากรัสเซีย ซึ่งระหว่างที่ถอนกำลัง กองทัพนโปเลียนก็ต้องเผชิญกับความหฤโหดของหน้าหนาวในรัสเซีย ทั้งการขาดที่พักและเสบียงทั้งของทหารและม้า (ผลจากยุทธวิธี Scorched earth ของรัสเซีย), ความขาดแคลนเสื้อกันหนาว, ภาวะตัวเย็นเกิน, ภาวะเหน็ดเหนื่อย ทำให้กองทัพนโปเลียนด้อยศักยภาพลง นี่จึงเป็นโอกาสทองของรัสเซีย รัสเซียได้ทีจึงยกทัพคอยตามตีอยู่เนือง ๆ ในวันที่กองทัพนโปเลียนข้ามแม่น้ำเบเรซีนาในเดือนพฤศจิกายน มีทหารที่พร้อมรบเหลือเพียง 27,000 นาย กองทัพใหญ่ได้สูญเสียกำลังพลในปฏิบัติการนี้ถึง 380,000 นายและตกเป็นเชลยอีกกว่า 100,000 นาย[12] ปฏิบัติการครั้งนี้สิ้นสุดลงเมื่อข้าศึกนายสุดท้ายออกจากแผ่นดินรัสเซียในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1812

ใกล้เคียง

การรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย การรุกของตอลิบาน พ.ศ. 2564 การรุกรานญี่ปุ่นของมองโกล การรุกที่เคียฟ พ.ศ. 2565 การรุกรานไซปรัสของตุรกี การรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศส การรุกคอร์ซุน-เชฟเชนคอฟสกี การรุกรานอิหร่านของบริเตนและสหภาพโซเวียต การรุกตรุษญวน การรุกรานรัสเซียโดยสวีเดน