การขอล้มละลาย ของ การล้มละลายของดีทรอยต์

การเจรจาระหว่างผู้จัดการฉุกเฉิน กับเจ้าหนี้ รวมถึงสหภาพต่าง ๆ และคณะกรรมการบำเหน็จบำนาญ ดำเนินมาหลายเดือน แต่ที่สุดกลับล้มเหลว[15] เทศบาลเมืองดีทรอยต์จึงยื่นคำร้องต่อศาลแขวงสหรัฐอเมริกาประจำแขวงมิชิแกนตะวันออก (United States District Court for the Eastern District of Michigan) แผนกคดีล้มละลาย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 เพื่อขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ (bankruptcy protection)[16][7] และผู้ว่าการรัฐมิชิแกนลงลายมือชื่อรับรองคำร้องในหนังสือแนบท้าย[12] ตามปรกติแล้ว ศาลจะใช้เวลาราวสามเดือนในการวินิจฉัยว่า เทศบาลเมืองดีทรอยต์มีอำนาจขอล้มละลายตามหมวด 9 หรือไม่[7]

คำร้องระบุว่า เหตุผลบางประการในการขอล้มละลาย คือ ฐานภาษีลดลดเพราะประชากรลดลง ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการและบำเหน็จบำนาญของข้าราชการเกษียณมีมาก กู้ยืมเงินมาแก้ไขปัญหางบประมาณขาดดุลตั้งแต่ปี 2551[17] ต้องดูแลรักษาระบบคอมพิวเตอร์สำหรับงานทะเบียนที่ล้าสมัยและคุณภาพต่ำ[1] ร้อยละห้าสิบสามของผู้มีหน้าที่ชำระภาษีทรัพย์สินไม่ปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2553[18] และมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง[19]

หนี้ระยะยาวของเทศบาลเมืองดีทรอยต์นั้นพอประมาณได้ว่า มากกว่าหนึ่งหมื่นสี่พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอยู่ที่ราวหนึ่งหมื่นแปดพันถึงสองหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ[15] แต่การล้มละลายจะส่งผลต่อเทศบาลเมืองดีทรอยต์เช่นไรก็ยังไม่แน่ชัด[1] ข้าราชการในรัฐมิชิแกนเห็นว่า ราชการงานเมืองจะไม่กระทบกระเทือนทันที[1] ขณะที่บรรษัทค้ำประกันผลประโยชน์ด้านบำเหน็จบำนาญ (Pension Benefit Guaranty Corporation) ไม่รับประกันพนักงานเทศบาลที่เกษียณอายุงานแล้ว เพราะพนักงานเหล่านี้เป็นบุคลากรเทศบาล ไม่ได้ทำงานเชิงธุรกิจ ทั้งพนักงานบางคนก็ได้รับประโยชน์จากบำเหน็จบำนาญแทนประโยชน์จากประกันสังคมอยู่แล้ว[20]

ดักลาส เบิร์นสเตน (Douglas Bernstein) นักนิติศาสตร์ด้านล้มละลาย ว่า ค่าฤชาธรรมเนียมคดีล้มละลายของเทศบาลเมืองดีทรอยต์นั้นอยู่ที่ "หลายสิบล้านถึงหลายร้อยล้านดอลลาร์" (tens-of-millions to hundreds-of-millions of dollars)[21] ส่วนผู้จัดการฉุกเฉินคาดว่า เทศบาลเมืองดีทรอยต์จะพ้นจากภาวะล้มละลายได้ภายในปลายฤดูร้อนหรือใบไม้ร่วงของปี 2557 และกล่าวว่า กำลังดำเนินการอย่าง "เร็วเท่าที่จะเร็วได้"[22]

ผู้จัดการฉุกเฉินเห็นสมควรให้ขายสินทรัพย์มีราคาของเทศบาลเอาเงินมาชำระหนี้ แต่ก็ทำมิได้เพราะขัดต่อกฎระเบียบหลายประการ[7][15] เช่น ศิลปวัตถุอันมีราคาในสถาบันศิลปะดีทรอยต์ (Detroit Institute of Art) นั้น ขายไม่ได้ เพราะมีข้อตกลงระหว่างเทศบาลกับเอกชนและมีข้อกฎหมายของรัฐมิชิแกนห้ามไว้ ส่วนสินทรัพย์อื่น ๆ ที่อาจขายได้นั้นมีท่าอากาศยานนานาชาติโคลแมน เอ. ยัง (Coleman A. Young International Airport) และสวนเบลไอล์ (Belle Isle Park) เป็นต้น[7] เอดดี ฟรานซิส (Eddie Francis) นายกเทศมนตรีเมืองวินด์เซอร์ รัฐออนแทริโอ ระบุว่า เทศบาลของตนสนใจจะซื้ออุโมงค์ดีทรอยต์–วินด์เซอร์ (Detroit–Windsor Tunnel) ครึ่งหนึ่ง ถ้าเทศบาลเมืองดีทรอยต์นำอุโมงค์นี้ออกขาย[23]

ใกล้เคียง

การล้อมเลนินกราด การล้อมอยุธยา (พ.ศ. 2309–2310) การล้อมบางกอก การล้างแค้นของผู้กล้าสายฮีล การล้อมออร์เลอ็อง การล้อม การล้มละลายของดีทรอยต์ การล้มล้างระบอบสุลต่านออตโตมัน การล้อมซีราคิวส์ (214-212 ปีก่อนคริสตกาล) การล้างแค้นของรูบิก

แหล่งที่มา

WikiPedia: การล้มละลายของดีทรอยต์ http://www.ctvnews.ca/world/michigan-gov-rick-snyd... http://www.boston.com/2012/06/27/stockton-bankrupt... http://detroit.cbslocal.com/2013/07/19/detroits-ba... http://www.chicagotribune.com/news/chi-detroit-ban... http://money.cnn.com/2013/07/18/pf/detroit-bankrup... http://www.detroitnews.com/article/20130711/METRO0... http://www.detroitnews.com/article/20130717/METRO0... http://www.expressnightout.com/printedition/PDF/EX... http://www.foxnews.com/politics/2013/05/13/report-... http://www.foxnews.com/politics/2013/07/19/confusi...