พระเมรุมาศและอาคารประกอบ ของ การเตรียมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะดำเนินการก่อสร้าง

การจัดสร้าง

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 มีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างเป็นครั้งแรก โดยมีพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็นประธาน โดยมีการเปิดเผยร่างแบบพระเมรุมาศ พร้อมด้วยพระโกศจันทร์ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศฯ จะมีการส่งมอบพื้นที่ให้กรมศิลปากรจัดสร้างพระเมรุมาศในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2560 โดยการจัดสร้างในทุก ๆ ด้าน คาดว่าแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 และจะมีการจัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 2 เดือน ก่อนมีการรื้อถอน[45]

องค์ประกอบพระเมรุมาศ

ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ ประกอบด้วยสัตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญการ ธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ[46]

พระเมรุมาศออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณี รูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูง 50.49 เมตร (ต่อมาได้ขยายเป็น 53 เมตร) มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นที่สูง มี 3 ชั้น ชั้นบน ที่มุมทั้งสี่ ประกอบด้วย ซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ 9 ยอด โดยยอดกลางจะเปรียบเหมือนเป็นเขาพระสุเมรุ และอีก 8 ยอดเป็นเหมือนยอดเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งเปรียบเป็นระบบจักรวาล โดยเปรียบพระมหากษัตริย์เป็นเหมือนสมมติเทพ

สำหรับนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่ใช้ประดับยอดพระเมรุมาศในครั้งนี้ มีขนาดความกว้าง 1.20 เมตร ความสูง 5.10 เมตร มีลักษณะเป็นฉัตรขาว 9 ชั้น แต่ละชั้นของฉัตรมีระบายขลิบทองแผ่ลวด 3 ชั้น ชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง 14 ช่อ ปลียอดฉัตรเป็นทรงองค์ระฆังต่อด้วยบัวกลุ่ม ปลียอดฉัตรทำด้วยทองเหลืองกลึงปิดทอง[18][19]

ทั้งนี้ มีเสาโครงเป็นครุฑและสัตว์หิมพานต์ ซึ่งครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ มีความเชื่อตามสมมติเทพว่า พระมหากษัตริย์เป็นพระนารายณ์อวตารลงมา

ส่วนภายในพระเมรุมาศ บริเวณกึ่งกลาง มีพระแท่นพระจิตกาธานดอกไม้สด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศไม้จันทน์ และหีบพระบรมศพไม้จันทน์ หลังจากการเปลื้องพระโกศทองใหญ่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ภายในพระแท่นบริเวณด้านล่างของพระจิตกาธาน ประดิษฐานเตาไฟฟ้าสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพของประเทศไทย ที่มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธานด้วยระบบเตาเผาไฟฟ้า แวดล้อมด้วยฉัตรดอกไม้สด 4 มุม พระจิตกาธาน

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งลิฟท์บริเวณชานชาลาพระเมรุมาศ ด้านทิศใต้ ทั้ง 4 จุด สำหรับใช้เสด็จพระราชดำเนินและเสด็จและใช้ขึ้นและลงพระเมรุมาศ และมีการติดตั้งลิฟท์สำรอง ด้านทิศตะวันออก อีก 4 จุด สำหรับใช้เสด็จและใช้ขึ้นและลงพระเมรุมาศ สำหรับพระราชวงศ์ และบุคคลผู้สูงอายุ ที่มาเข้าเฝ้าฯ ภายในมณฑลพระราชพิธี

 อาคารประกอบพระราชพิธี

  • พระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดกว้าง 44.50 เมตร ยาว 155 เมตร ซึ่งเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี ตลอดจนเป็นที่ประทับสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวงศ์ต่างประเทศ พระราชอาคันตุกะ รวมทั้งจัดเป็นที่ประทับและที่นั่งสำหรับบุคคลสำคัญที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี รองรับได้ประมาณ 2,800 ที่นั่ง นอกจากนี้ ยังมีห้องทรงพระสำราญสำหรับเป็นที่ประทับพักของพระบรมวงศานุวงศ์ ห้องพักรับรองสำหรับพระสงฆ์และบุคคลสำคัญที่เข้าเฝ้าฯบนพระที่นั่งทรงธรรม ห้องสุขา ห้องส่งสัญญาณในการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี ห้องพักสำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่
  • ซ่าง เป็นทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น ที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ ในช่วงพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ ตลอดจนบริเวณด้านหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ติดตั้งลิฟท์หนึ่งเพื่อใช้สำหรับเสด็จพระราชดำเนินขึ้นหรือลงจากพระที่นั่งทรงธรรมไปยังพระเมรุมาศ
  • หอเปลื้อง เป็นทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับเป็นที่เก็บพระโกศทองใหญ่ หลังจากอัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานพระจิตกาธานประกอบพระโกศจันทน์บนพระเมรุมาศแล้ว และเป็นที่เก็บเครื่องใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
  • ศาลาลูกขุน แบบที่ 1 ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ สำนักพระราชวัง และสำนักราชเลขาธิการ และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี
  • ศาลาลูกขุน แบบที่ 2 ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการและผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี
  • ศาลาลูกขุน แบบที่ 3 ใช้เป็นที่พักสำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ และใช้เป็นห้องสุขา ตลอดจนใช้เป็นห้องส่งสำหรับส่งสัญญาณในการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี
  • ทับเกษตร สำหรับใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมและวงปีพาทย์ และใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี ตลอดจนเป็นที่พักสำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี และทำเป็นห้องสุขา
  • ทิม สำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี และทำเป็นห้องสุขา
  • พลับพลายกท้องสนามหลวง อยู่ด้านนอกเขตรั้วราชวัติด้านทิศเหนือ ใช้สำหรับที่ประทับ สำหรับเสด็จรับพระบรมศพลงจากพระมหาพิชัยราชรถ สู่ราชรถปืนใหญ่
  • พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ใช้สำหรับที่ประทับ สำหรับเสด็จรับพระบรมศพจากพระยานมาศสามลำคาน สู่พระมหาพิชัยราชรถ
  • พลับพลายกพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท อยู่ด้านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท หน้าพระบรมมหาราชวัง สำหรับเจ้านายฝ่ายในประทับ ทอดพระเนตรกระบวน และถวายบังคมพระบรมศพ
  • เกยลา ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง สำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน

การออกแบบภูมิทัศน์และงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ

การออกแบบภูมิทัศน์จะจำลองพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการสร้างสระน้ำบริเวณ 4 มุม และได้จำลองกังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ ในการออกแบบงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วยงานศิลปกรรมประกอบอาคาร ฉัตร เทวดา สัตว์หิมพาน ประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ งานเขียนฉากบังเพลิงและจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ[47]

  • ฉากบังเพลิง มีความสูง 4.4 เมตร กว้าง 5.35 เมตร มี 2 ด้าน คือ ด้านหน้าและด้านหลัง โดยด้านหน้า ประกอบด้วย 4 ช่อง ช่องละ 2 ส่วน ช่องบนประกอบด้วยพระนารายณ์อวตาร จำนวนทั้งหมด 8 ปาง โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงประทับอยู่ในพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด เปรียบเป็นพระนารายณ์ปางที่ 9 นอกจากนี้ บนฉากบังเพลิงยังมีเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 24 โครงการ ส่วนด้านหลังฉากบังเพลิง ด้านบนเป็นพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” โดยมีดอกดาวเรืองอันเป็นดอกไม้ประจำพระองค์สอดแทรกอยู่ตรงกลางรอบข้างจะเป็นดอกไม้มณฑาทิพย์ เป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์จะร่วงหล่นในยามเกิดเหตุการณ์สำคัญแก่ชาวโลก ด้านล่างประกอบด้วยดอกไม้มงคล อาทิ ดอกบัวเงิน ดอกบัวทอง ดอกบัวสวรค์ สื่อถึงการนำมาถวายสักการะในหลวง รัชกาลที่ 9[48]
  • ประติมากรรมรอบพระเมรุมาศ การจัดสร้างประติมากรรมปั้นลวดลายและหล่อส่วนประกอบประดับตกแต่งพระเมรุมาศ เป็นส่วนประกอบซึ่งแสดงความเป็นทิพยสถาน ซึ่งได้ออกแบบโดยใช้แนวคิดตามคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนสมมุติเทพอวตารลงมาจากสวรรค์เพื่อมาปราบยุคเข็ญ งานจัดสร้างประติมากรรมประดับตกแต่งพระเมรุมาศ ประกอบด้วย ประติมากรรมพระโพธิสัตว์, เทพพนม, ครุฑยุดนาค, เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ, เทวดานั่งรอบพระเมรุ, เทพชุมนุมรอบฐานท้องไม้, มหาเทพ ประกอบด้วยพระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม และได้มีการปั้นหุ่นพระพิฆเนศเพิ่มเติมในภายหลัง, ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ประกอบด้วยท้าวกุเวร ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหก, ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ, ราวบันไดนาค, คชสีห์-ราชสีห์, สัตว์มงคลประจำทิศ ประกอบด้วยช้าง ม้า วัวและสิงห์[49] นอกจากนี้แล้วยังมีการจัดทำประติกรรมคุณทองแดงและคุณโจโฉ สุนัขทรงเลี้ยง เพื่อนำมาประดับบริเวณด้านข้างพระจิตกาธานอีกด้วย[50][51]
  • ภาพจิตรกรรมภายในพระที่นั่งทรงธรรม อยู่บริเวณภายในพระที่นั่งทรงธรรมทั้ง 3 ด้าน เป็นเขียนภาพจิตรกรรมเรียงร้อยเป็นเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จำนวน 46 โครงการจากทั้งหมดกว่า 4,000 โครงการ แต่ละด้านบอกเล่าโครงการในภูมิภาคต่างๆ[52][53][54]
  • สระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ งานพระเมรุมาศครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สร้างสระอโนดาต แทนภูเขาในป่าหิมพานต์ที่ทำในงานพระราชพิธีครั้งก่อๆ สระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ จะมีการขุดสระน้ำสูง 20 เซนติเมตร เป็นสระน้ำสีมรกต โดยมีสัตว์หิมพานต์ทิศละ 30 ตัว แบ่งเป็นสัตว์ 4 ชนิด ตามไตรภูมิ คือ ช้างประจำทิศเหนือ สิงห์ประจำทิศตะวันออก ม้าประจำทิศตะวันตก และโคประจำทิศใต้ สัตว์หิมพานต์ที่นำมาประดับ มีต้นแบบมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร แบ่งเป็นช้าง 10 ตระกูล สิงห์ 4 ชนิด พระโค และปัญจมหานที ที่สื่อถึงความสมบูรณ์ และม้า พาหนะของเจ้าชายสิทธัตถะ[55]

พระเมรุมาศจำลอง

พระเมรุมาศจำลองบริเวณลานพระราชวังดุสิตพระเมรุมาศจำลองบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการจัดสร้างพระเมรุมาศจำลองทั่วประเทศ โดยให้สร้างตามแบบของกรมโยธาธิการและผังเมือง และมีการประดับตกแต่งพร้อมทั้งติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้เรียบร้อย เพื่อเป็นจุดถวายดอกไม้จันทน์สำหรับประชาชน และให้จัดซุ้มตามแบบของกรมศิลปากร[56] และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560 ให้มีการจัดสร้างพระเมรุมาศจำลองจำนวนทั้งสิ้น 85 แห่งทั่วประเทศ โดยให้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด จำนวน 76 แห่ง และพระเมรุมาศจำลองในบริเวณ 4 มุมเมือง และบริเวณรอบๆ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง รวมอีก 9 แห่ง ดังนี้

  1. ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
  2. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (เดิม)
  3. สวนนาคราภิรมย์
  4. ลานปฐมบรมราชานุสรณ์
  5. สนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์)
  6. ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
  7. พุทธมณฑล
  8. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  9. ลานพระราชวังดุสิต

โดยแบบของพระเมรุมาศจำลอง แผนกสถาปนิกในพระองค์ฯ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมศิลปากร ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยขนาดของฐานมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 16 เมตร ตัวพระเมรุมาศข้างในมีขนาดของฐาน 4.5 คูณ 4.5 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความสูงรวมตั้งแต่ฐานถึงยอดประมาณ 22 เมตร 35 เซนติเมตร และกำหนดให้สร้างแล้วเสร็จในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560[57] ทั้งนี้ พระเมรุมาศจำลองทุกแห่งจะประดับยอดด้วยนพปฎลสุวรรณฉัตร (ฉัตรทอง 9 ชั้น) ยกเว้นพระเมรุมาศจำลองบริเวณลานพระราชวังดุสิต ที่ประดับยอดด้วยนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) เหมือนกับองค์จริงในท้องสนามหลวง เนื่องจากตั้งอยู่ในพระราชวังดุสิต ซึ่งถือว่าเป็นเขตพระราชฐาน หรือที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์[58]

ใกล้เคียง

การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ การเตรียมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ การเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า การเตรียมงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ การเติบโตของศาสนา การเต้นรำที่มูแล็งเดอลากาแล็ต การเต้นรำ การเติมหมู่ซัลเฟอร์ในไทโรซีน การเตือนคลื่นสึนามิ (ญี่ปุ่น) การเต้นแท็ป

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเตรียมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/754850 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/771704 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/775367 http://morning-news.bectero.com/social-crime/03-Oc... http://morning-news.bectero.com/social-crime/04-Oc... http://news.ch7.com/detail/203744/%E0%B8%81%E0%B8%... http://www.ddproperty.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8... http://news.mthai.com/general-news/562330.html http://www.posttoday.com/kingbhumibol/news/472315 http://www.posttoday.com/social/royal/465191