เรือใบ ของ การเล่นกีฬาของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช_บรมนาถบพิตร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ เนื่องจากพระองค์ท่านโปรดปรานการช่างอยู่แต่เดิมแล้ว เรือใบของพระองค์จะทรงต่อด้วยพระองค์เอง และจะทรงทดลองแล่นในสระน้ำภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเป็นเรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยพระราชทานชื่อเรือว่า "ราชปะแตน" และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภท โอ เค ขึ้นอีก พระราชทานชื่อว่า "นวฤกษ์" ซึ่งเรือนวฤกษ์นี้เอง ทรงนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงคิดค้น ออกแบบ และสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เองอีก พระราชทานชื่อว่า "เรือใบแบบมด" ทรงมีรับสั่งว่า "ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี" ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่โดยได้พระราชทานชื่อว่า เรือใบ "แบบซูเปอร์มด" และเรือใบในตระกูลมดนี้ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบคือเรือใบ "แบบไมโครมด" ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลาย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงต่อเรือขึ้นมาอีกลำหนึ่งเป็นเรือใบประเภท โอ เค พระราชทานชื่อเรือว่า "VEGA" หรือ เวคา (ชื่อดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่สุกสว่างมาก) ทรงใช้เรือลำนี้เสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวลหัวหิน ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงามในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินด้วยลำพังพระองค์เอง เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 ซึ่งในการต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือเวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย นอกจากนี้ยังทรงก่อตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้นคือสโมสรเรือใบจิตรลดา ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณรับสโมสรเรือใบต่าง ๆ มาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เช่น สโมสรเรือใบราชวรุณ สโมสรเรือใบกรมอู่ทหารเรือ สโมสรเรือใบฐานทัพเรือสัตหีบ สโมสรเรือใบนาวิกโยธิน และสโมสรเรือใบกองเรือยุทธการ เป็นต้น

ด้วยเหตุที่โปรดการต่อเรือใบประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้ทรงเล่าถึงพระราชดำรัสขององค์ท่านในหนังสือ อสท. เรื่องทรงเรือใบ ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ไว้ว่า "ปีใหม่คนอื่น ๆ เขาไปฉลองกัน เสียเงินมาก แต่เราเสีย 147 บาท เท่านั้น เป็นค่าไม้ยมหอม และค่าเบียร์ฉลองปีใหม่ แต่เรายังสนุกกว่าเขาอีก แล้วเป็นประโยชน์ด้วย"

จากพระราชดำรัสที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านทรงให้ความสนพระทัยในการกีฬาเรือใบนี้ด้วยพระราชหฤทัยอย่างแท้จริง จึงได้ทรงต่อเรือใบด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ซึ่งมีเพียงแต่พระองค์ท่านที่เป็นพระประมุขของชาติไทยพระองค์เดียวในโลกนี้เท่านั้นที่มีพระปรีชาสามารถในด้านเรือใบ

นอกจากนี้แล้ว ในพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 18 ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งตรงกับพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี นายฟรานซ์ เบคเคนบาวร์ (Franz Beckenbauer) ประธานจัดการแข่งขันได้กล่าวสดุดีพระเกียรติยศในด้านการกีฬาของพระองค์ท่านด้วย

ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงพระปรีชาสามารถทางการกีฬาจนเป็นที่เลื่องลือ และได้มีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาอันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ และได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฏีกิตติมศักดิ์ของ โอลิมปิก คือ "อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง)" เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยในรอบ 700 ปีที่ทรงได้รับเกียรติยศดังกล่าว นับตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนาไทยมานอกจากนี้สภามหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2534

ใกล้เคียง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พ.ศ. 2567 การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2563 การเลือกตั้งระบบสัดส่วน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565